ฝุ่นมาจากไหน? เมื่อ Big Data พบ Small Particles

  • ฝุ่นควันที่คุกคามชีวิตคนไทย และคร่าชีวิตคนไทยกว่าปีละ 2 หมื่นคน แท้จริงแล้วมาจากไหน?

  • ชีวิตและสุขภาพปอดของพวกเรา สุดแล้วแต่ดินฟ้าอากาศจะเมตตา หรือที่จริงแล้วเรามีทางเลือกที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีกว่านี้? และหากจะลุกขึ้นแก้ไข จะต้องเริ่มที่ตรงไหน?

  • ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีคำพูดมากมายเกี่ยวกับต้นตอของฝุ่นควัน ไม่ว่าจะเป็นการเผาไม้ทำลายป่า หรือมลภาวะในเมืองใหญ่ ความจริงเบื้องหลังที่มาของฝุ่นควัน มันขาวดำอย่างที่คุยกันจริงใช่ไหม?



เพื่อจะจัดการกับต้นตอของปัญหานี้ให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาจึงมองว่า การใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่และหลากมิติอย่าง Big Data เพื่อค้นหา วิเคราะห์และตอบโจทย์ จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการมอง ‘ฝุ่นจิ๋ว’ ให้ไม่จิ๋วอีกต่อไป

Photo credit: ภาพซ้าย Roy Cavanagh (Thaizer.com) ภาพขวา EPA-EFE PHOTO

หากคุณเป็นคนกรุงเทพฯ ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา เชื่อว่าคุณเองคงเป็นคนหนึ่งที่มักรู้สึกระคายคอบ่อย คันตา จมูกตัน แต่ไปหาหมอทีไรก็พบว่าไม่ได้เป็นหวัด  ทั้ง ๆ ที่ตัวคุณเองก็รักสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ

หมอเพียงบอกว่าอาการทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของฝุ่นควันที่ชื่อว่า “PM2.5”

เคยสงสัยไหมว่า เมืองที่ตนเองเติบโต กรุงเทพฯ ในบัดนั้นที่คุณวิ่งเล่นกลางแจ้งกับเพื่อน ๆ นั่งตุ๊กตุ๊กไปมาบุญครองสมัยเรียน ความเจริญทำให้กรุงเทพฯ ในบัดนี้กลายเป็นเมืองแห่งฝุ่นควันไปได้อย่างไรกัน

“เฮ้ย มันไม่ใช่ความผิดคนกรุงหรอก รถเยอะตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มันจะอยู่ดี ๆ มามีฝุ่นตอนนี้ได้ยังไง” คุณปลอบใจตัวเอง พลางเปิดทีวีดูข่าวพี่น้องชาวเหนือที่กำลังประสบวิกฤตปัญหาฝุ่นควันที่ถือว่าเข้าขั้นอันตรายต่อสุขภาพยิ่งกว่าฝุ่นในเมืองหลวงมากนัก

Photo credit: iglu

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางข้อถกเถียงมากมายต่อต้นตอของฝุ่น บ้างก็ว่า 

“มันผิดที่ชาวสวนชาวไร่มักง่าย เผาป่า เผาอ้อยกันจนทั้งประเทศเดือดร้อน” หรือ
“ถ้าโทษใครคนแรก ก็ต้องโทษคนกรุงนั่นแหละ ทำรถติด อากาศสกปรก”

เชื่อว่า คุณเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ต้นตอของปัญหานี้แท้จริงมันมาจากที่ไหน และมีใครในประเทศไทยที่พอจะเห็นทางออกบ้าง



ความกระจ่างต้องเริ่มต้นที่ข้อมูล

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจัง โดยเราเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศจาก 4 แหล่งหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ที่อยู่อาศัย โรงเรียน และสถานที่อื่น ๆ รวมกว่า 500 สถานีวัดคุณภาพอากาศ เป็นเวลาทุกวันตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่ง

จากแผนที่ด้านบนที่สีแดงและม่วงแสดงถึงค่าฝุ่นระดับอันตราย ในขณะที่สีเหลืองและเขียวที่แสดงค่าฝุ่นระดับปกติ จะพบว่าในแต่ละวันระดับค่าฝุ่นมีความแตกต่างกันไม่น้อยเลยทีเดียวในแต่ละภูมิภาค 

มีคำอธิบายได้ร้อยแปดว่าทำไมจึงเกิดความแตกต่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โรงงาน ไปจนถึงการเผาไร่เผาป่า หรือแม้กระทั่งฝนฟ้าที่เป็นใจไม่เท่ากันในแต่ละท้องที่ ในแต่ละห้วงเวลา

ในช่วงวิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้เองก็เหมือนกัน มีเรื่องน่าสงสัยไม่น้อยเกี่ยวกับวิกฤตฝุ่นควันที่ยังไม่จบสิ้นหากดูจากข้อมูล

ในกรุงเทพฯ ดูเหมือนระดับฝุ่นควันจะลดลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกยุติลงอย่างกระทันหัน

ทว่าในขณะเดียวกันเชียงใหม่กลับขึ้นแท่นกลายเป็นเมืองที่มีปริมาณฝุ่นควันอันดับหนึ่งของโลกหลายครั้งหลายครา ซึ่งตรงกับช่วงไฟป่าพอดี แล้วถ้าเราดูทั้งปีล่ะ?

ไฟป่าหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันแน่ที่เป็นตัวการหลัก?



มองฝุ่นควัน PM2.5 ให้ครบมุมด้วย Big Data

การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจึงจำเป็นที่จะต้องทราบต้นตอให้ได้ว่าค่าฝุ่นที่กำลังเปลี่ยนแปลงในแต่ละเวลา แต่ละสถานที่ เปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลใด และในปริมาณมากน้อยเพียงใด 

เราจึงประกอบชุดข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดในการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับฝุ่น PM2.5 ถึง 11 มิติในรัศมีรอบสถานีวัดคุณภาพอากาศ

สำหรับทุก ๆ ค่าฝุ่นที่วัดได้จากเครื่องวัดมลภาวะอากาศจำนวนกว่า 500 เครื่องในประเทศไทย เราทำการรวบรวมข้อมูลว่าปัจจัยรอบ ๆ เครื่องวัดเหล่านี้ ได้แก่ ความหนาแน่นประชากร ประเภทของการใช้ที่ดิน ปริมาณรถยนต์บนถนน ดินฟ้าอากาศ ลมฝนและความดัน ภูมิประเทศ การเผาป่าเผาที่ และร้านรวง ไปจนถึงจำนวนและระยะห่างจากโรงงาน มีลักษณะอย่างไรในทุก ๆ วัน โดยศึกษาย้อนหลังตลอดช่วง 1.5 ปีที่ผ่านมา

การมองฝุ่นได้ครบ 360 องศา  ทำให้เราได้เห็นว่าในแต่ละวัน ฝุ่นควันที่คนกรุงเทพฯ และคนเชียงใหม่กำลังหายใจเข้าไปนั้น คงไม่ได้มาจากต้นตอเดียวกันแน่ ๆ



คนผลิตฝุ่น ?

เพื่อแยกแยะที่มาของฝุ่นในแต่ละท้องที่ท่ามกลางความซับซ้อนหลากมิตินี้ เราจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคทางเศรษฐมิติอย่าง multiple regression model (การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ) ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงระหว่างค่าฝุ่น PM2.5 ว่ามีลักษณะผันแปรไปกับปัจจัยอิสระต่าง ๆ กว่าอีก 160 ปัจจัยอย่างไรบ้าง



ตัวเลขข้างบนแสดงผลสัดส่วนของปัจจัยต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของค่าฝุ่น นั่นหมายความว่า หากค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากปัจจัยใดและคิดเป็นค่าฝุ่นเท่าไหร่ สีฟ้าหมายถึง ปัจจัยที่มาจากธรรมชาติ ส่วนสีส้มหมายถึง ปัจจัยที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน

ผลวิเคราะห์บ่งบอกว่าต้นตอของฝุ่นในประเทศไทยหาใช่ใครอื่นไกลเลย หากแต่เป็นฝีมือของพวกเราทุกคนเองนี่แหละ หากพิจารณาตามสัดส่วนสีจากแผนภูมิด้านบน เราพบว่า

  • ปัจจัยตามธรรมชาติ (สีฟ้า) อย่างอุณหภูมิ ลม ความชื้น ความกดอากาศ หรือปริมาณน้ำฝน มีผลกับฝุ่น PM2.5 เพียง 25%  ในขณะที่อีก 75% ที่เหลือเป็นผลผลิตของมนุษย์ทั้งสิ้น (สีส้ม) ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากชุมชนเมือง การเผาไหม้ของยานพาหนะ ตลอดจนควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากภาคเกษตรกรรมอย่างการเผานาข้าว หญ้า หรือขยะต่าง ๆ
  • ความอึดอัดของชาวเหนือ คือ ไฟป่า ซึ่งเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 ถึง 16% และเข้มข้นกว่าภาคอื่น ๆ 35 เท่า จึงเป็นสาเหตุว่าพอถึงฤดูไฟป่าเมื่อไหร่ ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือถึงเพิ่มขึ้นสูงกว่าบริเวณภาคอื่น ๆ อย่างมาก ซ้ำร้ายเรายังพบว่าพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่น สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดฝุ่นจากอัคคีภัยบ่อยครั้ง
  • ในทางกลับกัน สาเหตุที่คนกรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาฝุ่นควันรุนแรงไม่แพ้คนภาคเหนือ ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ เองก็ไม่ได้มีไฟป่าที่รุนแรงเท่า มาจากความเสี่ยงจากพื้นที่เขตเมืองที่เป็นศูนย์กลางความหนาแน่นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการสร้างฝุ่นถึง 35% ซึ่งสูงมากกว่าการเผาเสียอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมปริมาณฝุ่นยังคงมีได้อยู่ตลอดและสูงขึ้นในบางพื้นที่ได้ ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูไฟป่า หรือฤดูที่เกษตรเผาหญ้า อ้อย ฟางข้าว

หมายเหตุ: การได้รับ PM2.5 1 micron/m3/วัน มีผลต่อสุขภาพเท่ากับการสูบบุหรี่ 22 มวน (Muller, 2015)



ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกลมหายใจ

มัจจุราชล่องหนอย่าง PM2.5 แม้เราจะมองไม่เห็น แต่อันตรายที่เกิดจากมลพิษชนิดนี้กลับมหาศาล และทุก ๆ คนในสังคมกำลังเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ OECD ประเมินว่า ในปี 2561 ต้นทุนทางสังคมจากฝุ่นพิษของไทยมีมูลค่ามากถึง 530,000 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 3.64 ของ GDP ต่อปี (OECD, 2017) โดยตัวเลขนี้สะท้อนถึงมูลค่าของชีวิตที่ต้องสูญเสียจากมลพิษทางอากาศ รวมถึงค่าเสียโอกาสจากผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นควัน อาทิ จำนวนวันที่ต้องรักษาพยาบาลจากโรค อายุขัยที่สั้นลง เป็นต้น



จากข้อมูลขนาดใหญ่สู่การแก้ไขในพื้นที่

การศึกษาเบื้องต้นของเราเริ่มสร้างความกระจ่างแล้วว่า ต้นตอของฝุ่นในแต่ละที่มีที่มาไม่เหมือนกัน มีต้นทุนต่อสังคมไม่เท่ากัน จึงไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ที่จะต้องการวิธีการแก้ไขในรูปแบบเดียวกัน หรือต้องการมาตรการที่มีความเข้มข้นเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพียง 500 สถานี ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ นั่นหมายความว่า ยังมีอีกหลายจังหวัดมากมายที่ขณะนี้ยังมีแต่ข้อมูลฟันหลอ (data gap) ทำให้ยังไม่สามารถไขต้นตอของฝุ่นควันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างตรงจุด

“กรุงเทพ ฯ มีความหนาแน่นของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ
มากกว่าเมืองใดในโลก และความสำเร็จนี้เป็นไปได้จากความร่วมมือ
ขององค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนทุกคนที่ช่วยริเริ่มการเก็บข้อมูล
แบบละเอียดในระดับจุลภาค ซึ่งจะเป็นพื้นฐานข้อมูลด้านสุขภาพ
ที่จะนำไปสู่การแก้ไขหรือปรับปรุงคุณภาพอากาศต่อไป”
– Yann Boquillod, Air Quality Monitoring Director, IQAir AirVisual

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนามองว่า เรายังต้องศึกษาเรื่องฝุ่นควันให้ลึกขึ้น เข้มข้นขึ้น และครอบคลุมให้มากขึ้น หากจะขับเคลื่อนนโยบายที่จะสามารถตอบสนองต่อความเเตกต่างของแต่ละพื้นที่ได้จริง โดยเริ่มต้นจากการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้น เพื่ออุดช่องว่างของข้อมูลฟันหลอ

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจคือ การติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่มเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถช่วยลดปัญหามลพิษฝุ่นได้เป็นแน่

ความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงชุมชน และประชาชน จะมีความสำคัญ และคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราทุกคนเริ่มได้ด้วยการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันง่าย ๆ เช่น การใช้ขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไปจนถึงการทำตามนโยบายอย่างจริงจัง เช่น ตรวจสอบเครื่องยนต์ให้ตรงตามมาตรฐานการปล่อยควัน หรือ ลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น เพื่อวันหนึ่งคนไทยจะได้สูดอากาศที่ดีได้เท่า ๆ กัน



อ้างอิง


ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัย

คณะผู้จัดทำ

  • คณะบรรณาธิการ: พิชชาภา จุฬา และมาพร เลิศสุริย์เดช
  • คณะผู้เขียน: สเตฟาน รุสท์เลอร์, ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ และชลธิศ ยังวิวัฒน์
  • คณะผู้วิเคราะห์ข้อมูล: ฌานุวรรษ อัศวเมนะกุล และพีรกานต์ จิตรภักดี
  • คณะผู้พัฒนาแผนภาพ: ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ, ดร. ภูริพันธุ์ รุจิขจร, รพี สุวีรานนท์,
    อภิวรรณ ดวงภุมเมศ และธสฤษฏ์ บุญศิริ


ขอขอบคุณคณะผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษา

  • นพ. วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ – ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก
  • รัตนาภรณ์ อิงแฮม – องค์การอนามัยโลก สำนักงานประเทศไทย
  • นพ. หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม – กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค
  • รศ. ดร. วิษณุ อรรถวานิช – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์