บทสรุปเสวนาออนไลน์ซีรีส์ “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?” ในหัวข้อ “คนไทยรักษ์โลกแค่ไหน? พลาสติก ไวรัส หรือใครที่ทำร้ายโลก?”

กว่า 60 ปีแล้ว ที่ถุงพลาสติกได้ถูกคิดค้นขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้แทนถุงกระดาษ ซึ่งจำเป็นต้องตัดต้นไม้เป็นจำนวนมากและใช้น้ำปริมาณมากในการผลิต ถุงพลาสติกจึงถูกนำมาใช้ทดแทน เนื่องจากมีคุณสมบัติเบา ทนทาน และสามารถใช้ซ้ำ ๆ ได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป การใช้ถุงพลาสติกกลับกลายเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างต้องพบเจอ และไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ทุกชีวิตบนโลกก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ถุงพลาสติกจำนวนมาก และถุงพลาสติกเหล่านั้น กลับไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง Earth Policy Institute เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมได้รายงานว่า คนทั้งโลกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกว่า 1 ล้านล้านใบต่อปี หรืออาจกล่าวได้ว่า มีการใช้ถุงพลาสติกกว่า 2 ล้านใบในแต่ละนาที หลาย ๆ ประเทศจึงต้องออกมาตรการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาพลาสติก เช่นเดียวกัน ประเทศไทยได้มีการประกาศขอความร่วมมือ งดแจกถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

มาตรการนี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และมีหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติก กอปรกับวิกฤติโควิด-19 ก็ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนด้วย ผู้คนจึงหันมาให้ความสำคัญกับสุขอนามัยเป็นหลัก และพฤติกรรมการใช้พลาสติกก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์ในซีรีส์ “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน? ตอนคนไทยรักษ์โลกแค่ไหน? พลาสติก ไวรัส หรือใครที่ทำร้ายโลก?” ในวันที่ 29 เมษายน 2563 เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับถุงพลาสติก และร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาถุงพลาสติกของประเทศไทยต่อไป

สถานการณ์พลาสติกไทย

คุณบุษบา คงปัญญากุล หัวหน้า Design and Testing Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้เปิดวงเสวนาด้วยภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นจากถุงพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยพบว่าในปัจจุบัน พลาสติกได้ถูกผลิตขึ้นมากกว่า 450 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ มีที่หลุดรอดออกมาเป็นขยะทะเลกว่า 12 ล้านตัน (IUCN, 2020) และหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขในภายในปี พ.ศ.​ 2593 จะทำให้ขยะพลาสติกมีมากกว่าปริมาณปลาในทะเล (UNEP, 2018) ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่มีขยะพลาสติก หลุดรอดลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก รองลงมาจาก จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา ตามลำดับ (Science, 2015) ซึ่งขยะทะเลที่เกิดขึ้นกว่า 80% เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก และอีก 20% เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในน้ำ (Ocean conservancy and MCBE, 2015) ดังนั้นแต่ละประเทศ จึงได้มีมาตรการเพื่อการจัดการถุงพลาสติกในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น การรณรงค์งดใช้ การเก็บค่าธรรมเนียม การสนับสนุนวัสดุทดแทน การออกกฎหมายควบคุม เป็นต้น (สามารถติดตาม Data Story เกี่ยวกับมาตรการการจัดการถุงพลาสติกได้เร็ว ๆ นี้) อย่างไรก็ตาม การจัดการถุงพลาสติกก็ยังคงมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย วงจรชีวิตของพลาสติก (lifecycle) หรือมาตรการที่ชัดเจน

เมื่อย้อนกลับมามองในฝั่งของประเทศไทย คุณบุษบา ได้นำเสนอข้อมูลเฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกของประเทศไทยพบว่า อุตสาหกรรมพลาสติกของไทย คิดเป็น 7.27% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสัดส่วนการผลิตพลาสติกกว่า 42% ได้นำไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (สถาบันพลาสติก, 2562) จากตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า เป็นปริมาณการผลิตที่ค่อนข้างมาก กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เริ่มประกาศขอความร่วมมือ งดแจกถุงพลาสติกเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายในการลดถุงพลาสติกที่เกิดจากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อให้ได้ 30% ต่อปี (หรือประมาณ 13,500 ล้านใบจากการใช้ถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบต่อปี) นอกจากนี้ ประเทศไทยเองได้มีแผน roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561-2573 เพื่อให้เกิดการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามหลักระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy)

เห็นด้วยหรือเห็นต่าง รับฟังเสียงชาวเน็ต

เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้ทำการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผ่านการทำแบบสำรวจออนไลน์ เพื่อศึกษาความคิดเห็น และพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อมาตรการการงดแจกถุงพลาสติก ผศ. ดร.ณัตติฤดี เจริญรักษ์ หัวหน้า Public Opinion and Dialogue Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้นำเสนอข้อมูลที่ได้รับจากแบบสำรวจออนไลน์ ในช่วงวันที่ 10-18 เมษายน 2563 มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจากทั้งหมด 763 คน พบว่ากว่า 85% เห็นด้วยกับมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติก ที่ได้ประกาศออกมาในวันที่ 1 มกราคม 2563 และมีเพียง 5% ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้

ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง ก็ได้มุ่งสู่แนวทางที่รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนของการรับถุงพลาสติกในการซื้อของทุกครั้ง ลดลงจาก 15% เหลือไม่ถึง 1% และกว่า 54% ที่หลังจากการออกมาตรการในครั้งนี้แล้ว เลือกที่จะไม่รับถุงพลาสติกจากการซื้อของเลย ในขณะเดียวกัน ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจมักจะพกถุงผ้าทุกครั้ง หรือพกเป็นประจำ (80%) ส่วนใหญ่แล้วเมื่อไปซื้อสินค้า จะพกถุงผ้า ถุงสปันบอนด์ หรือถุงพลาสติกที่เตรียมไปเองแทนการใช้ถุงพลาสติก โดย 3 เหตุผลหลักที่คนส่วนใหญ่ต้องการลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นเพราะต้องการลดขยะพลาสติก ไม่มีการแจกถุงพลาสติก และสงสารสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากพลาสติกเมื่อได้รับถุงพลาสติก ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนมาก จะนำถุงพลาสติกที่ได้รับกลับมาใช้ประมาณ 1-2 ครั้ง เพื่อใช้เป็นถุงขยะ (93%) และใช้เก็บสิ่งของ และถนอมอาหารต่าง ๆ (40-50%) มากไปกว่านั้น เมื่อสอบถามถึงมาตรการที่ต้องการเสนอเพิ่มเติมในการจัดการถุงพลาสติก ได้แก่ 1) มีมาตรการจัดการพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดพลาสติก ห่อขนมพลาสติก 2) ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะแก่ผู้บริโภค / คิดเงินค่าถุงจากผู้บริโภค 3) มีมาตรการจัดการถุงพลาสติกในตลาดและร้านขายของชำ

นอกจากแบบสำรวจออนไลน์แล้ว สถาบันฯ ยังได้เก็บความคิดเห็นจากโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ความรู้สึกเชิงบวกและเชิงลบต่อถุงผ้าและถุงพลาสติก มีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยความคิดเห็นเชิงบวก (19%) มีมากกว่าความคิดเห็นเชิงลบเล็กน้อย (13%) แต่เมื่อพิจารณาในในช่วงวันที่ 1-7 มกราคม ซึ่งเป็นช่วง 7 วันแรกหลังจากการออกมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติก พบว่ามีความคิดเห็นเชิงลบ (17%) มากกว่าความคิดเห็นเชิงบวก (14%) เล็กน้อย

เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ในมุมมองผู้ประกอบการจากตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ คุณบุษบา ยังนำเสนอมุมมองจากการสำรวจความคิดเห็น ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ CEO Survey ซึ่งจัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการสอบถามความคิดเห็นในช่วงมกราคม 2563 ที่ผ่านมา นอกจากการสอบถามถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ และมูลค่าทางตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการสอบถามถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และนโยบายภาครัฐด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียนครั้งที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ 110 บริษัท หรือคิดเป็น 41% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

ผลลัพธ์จากการเก็บข้อมูลความคิดเห็น ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการพบว่า บริษัทจดทะเบียนเห็นด้วย ตอบรับ และสนับสนุนการขอความร่วมมือนี้อยู่แล้ว เพราะบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้พลาสติก และได้ดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว มากไปกว่านั้น กระแสตอบรับจากบริษัทจดทะเบียน ได้จำแนกผลกระทบด้านลบและด้านบวกออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ด้านลบ: ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น และขั้นตอนการทำงานที่เพิ่มขึ้น
ด้านบวก:
ระยะสั้น) ต้นทุน ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองลดลง ขยะที่ต้องจัดการน้อยลง ลูกค้าพึงพอใจ
ระยะยาว) ต้นทุนระยะยาวลดลงจากกิจกรรม 3R (Reduce, Reuse และ Recycle) และมีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ายิ่งขึ้น

จากผลลัพธ์ และผลกระทบโดยความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียน แสดงให้เห็นถึงแนวทางการจัดการพลาสติกที่ใช้ ตามพื้นฐานการจัดการตามหลักสากล โดยบริษัทจดทะเบียนได้จัดการตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

การผลิต: ซึ่งจะใช้วัสดุอื่นแทนพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุทดแทนที่ย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้ ตามต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)

  • การบรรจุหีบห่อ: ลดขั้นตอนผิดพลาดจากการบรรจุสินค้า หรือลดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกลง
  • การใช้งาน/การส่งสินค้า: งดแจก และใช้ถุงพลาสติกในการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค
  • การรีไซเคิล และเพิ่มมูลค่าของสินค้า (upcycling): ริเริ่มการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เพิ่มเติมมาจากหลัก 3R ซึ่งได้มีการริเริ่มในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่ผลิตบรรจุภัณฑ์แล้ว

จากความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียน กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทางบริษัทจดทะเบียนมีความพร้อม ในการร่วมมือจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และทางบริษัทได้มีการร่วมมือกัน ถึงกระบวนการการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

มากไปกว่านั้น คุณบุษบาได้นำเสนอข้อสรุปที่ได้รับจากการจัด workshop “ปลุกพลังความคิด ใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน” ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับมุมมองจากผู้เข้าร่วมงานในหลายภาคส่วน ทั้งในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการ ข้อเสนอและความคิดเห็นในการจัดการกับปัญหาพลาสติก รวมถึงระบบนิเวศของบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็น ของผู้ประกอบการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก นอกเหนือจากข้อมูลความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่อีกด้วย

ส่งต่อความคิดเห็น หนึ่งในตัวแทนจากผู้ประกอบการภาคเอกชน

คุณสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโส คณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในตัวแทนของผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิต จัดจำหน่าย และจัดส่งผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งทาง ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินการการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในรูปแบบโครงการต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐ (ทำนโยบายร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) และภาคประชาชน (มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ)

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ จากการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือ และพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการที่สนับสนุนให้ความร่วมมือนั้น จนสัมฤทธิ์ผลทั้งในภาครัฐและประชาชนอย่างที่กล่าวมาข้างต้น โดยบริษัทฯ ได้นำเสนอข้อมูลด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่า ผู้ซื้อสินค้ากว่า 70%ให้ความร่วมมือกับมาตรการนี้ โดยนำถุงผ้ามาซื้อสินค้าเอง ในขณะที่อีก 30% ไม่ให้ความร่วมมือ และไม่พึงพอใจที่ไม่ได้รับถุงพลาสติก โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือ ลูกค้าได้รับข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการนี้ไม่ทั่วถึง

คุณสุวิทย์ ได้พูดถึงผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อีกด้วยว่า ร้านสะดวกซื้อได้เปิดให้บริการจัดส่งแทน แต่ไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถใช้ตะกร้าหรือถุงผ้าในการจัดส่งได้ มากไปกว่านั้น คุณสุวิทย์ ยังได้เสนอให้ภาครัฐประกาศการใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการถุงพลาสติกให้ชัดเจน และมีการรณรงค์เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง

มนุษย์กับถุงพลาสติก เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร?

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทย มีความพยายามที่จะลดการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง หรือถุงพลาสติกหูหิ้วนั้น คำถามที่มีอยู่ในใจ รวมไปถึงความตั้งใจจริงที่มีการเริ่มปฏิบัติมาให้เห็นบางแล้ว คือความพยายามที่จะลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว จนไปถึงการหาสิ่งอื่นมาใช้ทดแทน อย่างไรก็ดี ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรของงานเสวนาเสนอให้เห็นถึงแง่มุมที่น่าสนใจ แล้วชวนย้อนคิดในมุมกลับ กล่าวคือ การลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก หรือหาอะไรมาทดแทนนั่นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ควรมองและให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือเรื่อง ecosystem ของการจัดการถุงพลาสติก

เมื่อถุงพลาสติกถือเป็นหัวใจสำคัญ สามารถรีไซเคิล สร้างประโยชน์ และสร้างมูลค่าได้ หากมีการคัดแยก ดังนั้น พลาสติกจึงควรถูกมองว่าเป็นทรัพยากรอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อพลาสติกบางส่วนสามารถสร้างมูลค่าได้ เช่น การนำไปใช้ผลิตเสื้อกีฬา หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และหากส่วนไหนที่ไม่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ก็จะนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ กลายเป็นเศษพลาสติกที่สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำได้อีกครั้ง ส่วนไหนที่ใช้ไม่ได้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน RDF (Refuse Derived Fuel) หรือ ไปเพิ่มผลผลิตน้ำมันจากพลาสติก

ทั้งหมดที่กล่าวไปคือ การจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้ วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในระบบนิเวศน์ของบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ecosystem) ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ โดยใช้ทรัพยากรพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในหลุมฝังกลบ และนำไปสู่การจัดการปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืน ดังที่ roadmap ของประเทศไทย ได้วางแผนไว้ให้สำเร็จภายใน ปี พ.ศ. 2570

อย่างไรก็ดี ดร.ณัฐวิญญ์ ชี้ให้เห็นแง่มุมที่ยังต้องให้ความใส่ใจ ได้แก่ พลาสติกรีไซเคิลแล้วยังคงมีปัญหา กล่าวคือ ไม่สามารถนำมาผลิตออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารได้โดยตรง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ และจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

แล้วในมุมของผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป ควรทำอย่างไร ดร.ณัฐวิญญ์ เสนอแนวคิดที่น่าสนใจไว้ 2 ประการ

ประการ ที่ 1 คือการใช้ถุงทดแทนให้คุ้มค่าที่สุด ตามวงจรชีวิตของถุงเหล่านั้น เช่น ถุงกระดาษ ควรใช้อย่างต่ำ 3 ครั้งขึ้นไป หากต้องการสร้างผลกระทบต่อโลกร้อนให้น้อยกว่าถุงพลาสติก หรือ ถุงสปันบอนด์ควรใช้อย่างต่ำ 11 ครั้ง และถุงผ้าฝ้ายอยู่ที่ 131 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐวิญญ์ ชี้ให้เห็นข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการศึกษาในสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามนี้โดยตรง เนื่องจากประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง อาจทำให้ต้นทุนของการผลิตสูงกว่าบ้านเรา

สำหรับใครที่สงสัยเรื่องการใช้ถุงไบโอพลาสติก ดร.ณัฐวิญญ์ อธิบายว่า การใช้ถุงดังกล่าว ยังสามารถทำได้ แต่ควรมองหาสัญลักษณ์และคำที่เขียนว่า "compostable" ด้วย ทั้งนี้ยังอธิบายต่อด้วยว่า แท้จริงแล้ว คำว่า “ย่อยสลายได้” ยังชวนให้ประชาชนเข้าใจผิดอยู่มาก เนื่องจากคำว่า “ย่อยสลายได้” แท้จริงนั่นหมายถึง การย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป และต้องอยู่ภายในสภาวะที่กำหนดไว้ และเป็นสภาวะที่ต้องสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ กล่าวคือ หากประชาชนทั่วไปอยากนำถุงไบโอพลาสติกไปฝังกลบที่บ้าน เพื่อให้ย่อยสลายด้วยตัวเองนั้น ก็ไม่สามารถทำได้นั่นเอง

ประการที่ 2 สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่แพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้การใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และถุงพลาสติกมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผู้ออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถุงพลาสติกเริ่มเกิดข้อกังวล ยกตัวอย่างเช่น ในหลาย ๆ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสกอตแลนด์ ได้มีการเลื่อนการยกเลิกมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือ ห้ามใช้ถุงแบบใช้ซ้ำ (Reuseable bag) ชั่วคราว เมื่อคำนึงถึงเรื่องความความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องใช้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แล้วเราจะอยู่กับถุงพลาสติกอย่างไร ดร.ณัฐวิญญ์ เสนอว่า สิ่งที่ผู้โภคทำได้มากที่สุดคือ การแยกขยะให้ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ที่มารับต่อไปนั้น สามารถนำไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ โดยเริ่มต้นจากการแยกหน้ากากอนามัยก่อน และนำใส่ในถุงที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้รับต่อไปนั้นสามารถนำไปจัดการได้อย่างถูกต้อง จากนั้นแยกขยะแห้ง เช่น กล่องกระดาษ ถุงพลาสติกแห้ง แยกบรรจุอาหาร โดยทำการล้างให้เศษอาหารไม่ปนเปื้อน แล้วรวบรวมไว้ด้วยกัน และสุดท้ายคือการแยกขยะทั่วไป

จากที่กล่าวไปข้างต้น ดร.ณัฐวิญญ์ ยังชี้ให้เห็นอีกมุมมองใหม่ที่ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการเกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) ขึ้นให้เร็วขึ้น ในระบบนิเวศน์ของบรรจุภัณฑ์พลาสติก ecosystem ที่สามารถใช้ทรัพยากรพลาสติกนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ออกแบบนโยบายส่วนใหญ่ มองเพียงแค่ลดการใช้ หรือใช้ของทดแทน แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่มากพอ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มนุษย์ ต้องอาศัยอยู่กับโรคระบาดในปัจจุบัน ซึ่งหาก circular economy สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะช่วยลดปริมาณทรัพยากรในการจัดการขยะที่ต้องใช้ และนำมาสู่การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

“ไวรัสทำให้เราหันมาสนใจมากขึ้นว่า เราจะอยู่กับมันต่ออย่างไร การสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการจัดการขยะพลาสติกตอนนี้ ด้วยสภาวะโควิด-19 เราอาจจะต้องวิ่งไปให้เร็วกว่าเดิม จากที่เคยตั้งใจเอาไว้” ดร.ณัฐวิญญ์ ฝากทิ้งท้ายให้พวกเราได้คิดต่อ