บทสรุปจากงานเสวนาออนไลน์ ‘New World Paradigm: ‘ไวรัส’ เปลี่ยนโลก ครั้งที่ 2’

เรื่อง: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์

การกักตัวและปิดเมืองมานานหลายสัปดาห์ และมีท่าทีว่าจะคงต่อไปอีกระยะในอนาคต เป็นการตอกย้ำว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นการพลิกผันแห่งยุคสมัย การอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ด้วยแนวคิดเดียวกันว่าเหตุการณ์นี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ เทียบเท่ากับสงครามโลกครั้งที่ผ่าน ๆ มา มากไปกว่านั้น เราทุกคนต่างก็สามารถรับรู้ถึงผลกระทบเหล่านั้น ผ่านประสบการณ์ตรงได้อย่างชัดเจนเช่นกัน

ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ และกลายเป็นปัญหาที่ต้องคอยเฝ้าระวัง แก้ไข และฟื้นฟูเพื่อให้อนาคตของสังคมไทยแข็งแรงมากขึ้น มากไปกว่านั้นคือการที่เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด ความไม่แน่นอนของอนาคตในประเด็นต่าง ๆ จึงเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้คำถามที่สำคัญคือ เราจะคงเหลือความ “ปกติเดิม” ที่เราคุ้นชินหลังจากวิกฤตการณ์ นี้หรือไม่ และความปกติใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในขณะที่เรานั่งอยู่ในบ้าน และพยายามจะดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางสถานการณ์นี้ การคำนึงถึงความเป็นไปได้ในอนาคตอาจจะเป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะเมื่อเราเริ่มมองถึงอนาคตที่เต็มไปด้วย “ความปกติใหม่” ในโลกหลังโควิด-19 เราจะเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต และมากไปกว่านั้นเราควรที่จะเริ่มสร้างศักยภาพในการปรับตัว เพื่อรองรับโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เวลา 16:30-18:00 น. สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาหรือ Institute of Public Policy and Development (IPPD) โดยการนำของ Foresight and Futures Lab ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ New World Paradigm Series: ‘ไวรัส’ เปลี่ยนโลก #2 ในประเด็นสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำ ความสัมพันธ์ และความหมาย ร่วมกับ วิทยาลัยประชากรศาสตร์และโครงการจุฬาอารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย และชุดโครงการวิจัยการเจริญพันธุ์และสุขภาวะ (สสส.) เพื่อตั้งคำถามและเปิดพื้นที่ในการสนทนา ที่เกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอนของอนาคตเหล่านั้น และประเด็นสำคัญที่ต้องการชวนให้สังคมร่วมกันคิดไปข้างหน้าด้วยกัน ท่านสามารถรับชมคลิปการเสวนาย้อนหลังได้ที่นี่

 


 

สังคมสูงวัย (Aging society)

ศ. ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติมานำเสนอประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับสังคมสูงวัยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามากระทบชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง และวิกฤตการณ์นี้ได้กระทบแนวโน้ม และทิศทางของสังคมสูงวัยในประเทศไทยอย่างไร การคาดการณ์ของสถานการณ์สังคมสูงวัยใน 10-20 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และประเทศไทยสามารถเรียนรู้ และเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไรบ้าง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง
ในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านมา เราพบการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมสูงวัย ภาวะโลกร้อน และเมื่อล่าสุดคือเรื่องการพลิกผันของสังคมผ่านเครื่องมือทางดิจิทัล (digital disruption) ที่มาอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนอย่างมาก นอกจากนี้ในปัจจุบัน เรายังต้องมาเผชิญอยู่กับโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มเข้าไปเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอีกระลอกหนึ่ง

โดยทั่วไปแล้วสังคมสูงวัยมีนิยามคือ สังคมที่มีคนวัยเด็กและวัยแรงงานในสัดส่วนที่น้อยกว่าคนวัยสูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) สถานการณ์สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว มักพบอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีฐานเศรษฐกิจที่ดี เช่น อิตาลี หรือญี่ปุ่น เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทย เรานับว่าเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้เข้าสู่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม ซึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทย “แก่ก่อนรวย”

ครั้นเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรคดังกล่าวยังเป็นภัยคุกคามแก่ผู้สูงอายุโดยตรง เนื่องจากโรคนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุรุนแรงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ในประเทศไทย สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าวัยสูงอายุเป็นวัยที่เสี่ยงต่อทั้งการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโรคนี้ เรายังไม่เห็นตัวเลขยืนยันที่แน่ชัดว่าโรคโควิด-19 นี้จะส่งผลอย่างไรต่ออัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่อายุสูงมาก ที่มีศักยภาพในการใช้ชีวิตต่อและเสียชีวิตตามวัยได้

นอกจากนี้ อาจารย์วิพรรณยังกล่าวต่อไปว่า โควิด-19 ยังเกี่ยวข้องกับความหนาแน่นของประชากรในเมืองใหญ่ ที่ระบบเศรษฐกิจได้รับการพัฒนามากที่สุด แต่กลับเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมากที่สุดเช่นกัน ประเด็นนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำในเมือง ทั้งในมุมของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างลิบลับในสังคมเมือง ในด้านหนึ่งเมืองเป็นพื้นที่ที่น่าดึงดูดให้แก่หลายคน แต่อีกด้านหนึ่งความหนาแน่นและคุณภาพชีวิตที่แย่ของคนจนเมืองในชุมชนแออัด ก็ส่งผลให้การแพร่กระจายของเชื้อโรคมีมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นชุมชนเหล่านี้ ยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในเมือง ส่งผลต่อเนื่องให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการติดโรคเพิ่มขึ้นไปอีก

นโยบายการต้านภัยโควิด-19 ที่ผ่านมา ต่างก็มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุโดยการให้ทุกคนอยู่บ้าน แต่นโยบายนี้ตรงกันข้ามกับนโยบายที่เคยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นพลังของสังคมหรือ active aging ด้วยการให้ออกจากบ้านมาออกกำลังกาย พบปะผู้คนและสังคม เพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับตนเอง และทำประโยชน์ให้สังคม

ในเชิงเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับคนในวัยอื่น ๆ ผู้สูงอายุหลายคนยังคงต้องพึ่งพางานที่ก่อให้เกิดรายได้ ที่แม้จะเป็นรายได้ที่ค่อนข้างต่ำแต่ก็จำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้รายได้ของคนกลุ่มนี้กลับลดลงไปอีก ปริมาณเงินเก็บสะสมก็มีไม่มากนัก เมื่อเผชิญกับสถานะการณ์ที่ทำให้รายได้หดหายลงไปอีก สถานการณ์ของคนกลุ่มนี้กลับน่าเป็นห่วงยิ่งนัก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านี้ก็คือ ถ้าเราเริ่มมองในระยะยาว และมองไปจนถึงนโยบายต่าง ๆ ที่เคยวางไว้ เช่น นโยบายส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ ผ่านการขยายอายุทำงานทั้งการจ้างต่อและการจ้างใหม่ สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้การปฏิบัติตามนโยบายเหล่านี้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ยิ่งจะทำให้ผู้สูงอายุถูกปลดออกจากการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ขีดความสามารถที่ค่อนข้างน้อยในการปรับตัว เพื่อให้ทันเทคโนโลยีทางดิจิทัลต่าง ๆ ยังจะทำให้พวกเขาเหล่านี้ มีโอกาสหางานเพื่อสร้างรายได้ยากขึ้นไปอีก

ประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจถัดมาก็คือ เราจะสังเกตเห็นได้ว่ามีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว หรืออยู่กันกับคู่สมรสแต่เพียงลำพังมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วย ถึงแม้ว่าจะมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังคงอยู่กับลูกหลาน แต่ครอบครัวเช่นนั้นก็เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครอบครัวไทยเริ่มมีลูกน้อยลง มากไปกว่านั้น ครอบครัวใดที่มีลูกก็มักนิยมส่งลูกเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องอยู่อาศัยเพียงตามลำพัง

ประเด็นที่ตามมา คือกระบวนการเปลี่ยนเป็นเมือง (urbanization) ที่ส่งผลให้สัดส่วนประชากรในเมืองมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาเป็นความหนาแน่นและค่าใช้จ่ายในเมืองที่สูงกว่าพื้นที่ชนบท ซึ่งหมายถึงความยากในการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่อยู่อาศัยที่อยู่ในชุมชนแออัดและมีพื้นที่ภายในบ้านจำกัด สำหรับผู้สูงอายุแล้วการที่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่พร้อมทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงกายภาพและเชิงสุขลักษณะ ล้วนแล้วแต่จะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อโรคภัยมากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ผู้สูงอายุในเมืองยังสามารถเข้าถึงยาและการดูแลรักษาได้ยากกว่าผู้สูงอายุในต่างจังหวัดที่มีระบบอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้ามาช่วยเหลือ ส่งยา และดูแลถึงบ้าน คนที่มีรายได้น้อยในเมืองกลับเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ เพราะเมืองใหญ่ขาดข้อมูลและขาดระบบที่จะเข้าถึงบ้านผู้สูงอายุ

เมื่อกลับมามองเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ประเด็นที่น่าห่วงไม่ใช่แค่การติดเชื้อ แต่ประเด็นคือโรคเรื้อรังที่ผู้สูงอายุมีอยู่เดิมอาจแย่ลง เนื่องจากความไม่สะดวกหรือเสี่ยงที่จะเดินทางไปพบแพทย์ ทำให้ได้รับการติดตามรักษาและได้ยาไม่ต่อเนื่อง อันอาจนำไปสู่ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ นอกจากนี้ที่แต่เดิมมีนโยบาย active aging แต่ในขณะนี้พยายามให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านไม่ออกไปข้างนอกบ้าน อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือไม่ได้ทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างที่เคยทำเป็นประจำ อาจกลายมาเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียงได้มากขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางหรือวิธีการ ที่จะให้ผู้สูงอายุมีการทำกิจกรรมในบ้านหรือกิจกรรมเพื่อสังคมในบ้านได้

อาจารย์วิพรรณยังกล่าวถึงประเด็นเทคโนโลยีว่า ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูล ระบบสวัสดิการสังคม และการบริการอื่น ๆ ในยามวิกฤติ กระนั้นก็ตามเราสามารถเห็นได้ว่าผู้สูงอายุส่วนมาก ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลเหล่านั้นได้ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีโทรศัพท์มือถือใช้จะมีเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปแล้วมักใช้กับการโทรเข้าออกแบบเดิม ส่วนคนที่สามารถใช้เพื่อเป็นสมาร์ทโฟนได้ ก็มักจะไม่สามารถใช้เพื่อตอบสนองกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การสั่งอาหาร การทำงาน การนัดหมายออนไลน์ หรือรับการบริการอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ช่องว่างทางเทคโนโลยีจึงขยายกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ และผู้สูงวัยในสังคมก็ได้กลายเป็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังไปโดยปริยาย

การคาดการณ์ของสถานการณ์สังคมสูงวัยในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า จะเป็นอย่างไร

ประเทศไทยคงจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มตัวในเวลาอันสั้น และคงจะเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชีย ที่มีสภาพสังคมเป็นสูงวัยอย่างเต็มตัว ตามติด ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์

ถึงแม้ตอนนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนของคนอายุมากกว่า 60 ปี มากแล้ว แต่ในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า คนที่มีอายุราว 40-50 ปีซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และจัดเป็นคลื่นมนุษย์ลูกใหญ่ที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ ส่งผลให้จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุไทยจะยิ่งมีจำนวนมากขึ้นไปอีก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนเหล่านี้และคนที่อายุน้อยกว่านี้ ยังไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับตนเองในวัยสูงอายุ ซึ่งการเตรียมตัวสำหรับวัยสูงอายุ รวมถึงการต้องเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ของคนรุ่นต่าง ๆ ด้วย

ในบริบทสังคมสูงวัย ที่คนไทยจะมีชีวิตที่ยืนยาว วิถีชีวิตทั่วไปของคนไทย จะมีขั้นตอนชีวิตที่สลับซับซ้อนขึ้น ทั้งชีวิตการศึกษา การทำงาน การสร้างครอบครัว การพัฒนาศักยภาพตนเอง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันที่หลากหลายและรุนแรงเป็นระยะ ๆ อาจารย์วิพรรณเรียกการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่า “มรสุมชีวิต” ที่แต่ละช่วงของชีวิตจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ ไม่ว่าจะมา จากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม จากสภาวะเศรษฐกิจ และจากสังคมที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เส้นทางชีวิตของคนในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นเส้นที่ซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนในอดีต การเตรียมพร้อมรับมือ การคอยพัฒนาทักษะของตน และเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งสำคัญของคนทุกช่วงวัยจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมให้กับตนเอง

ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ และเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์อื่น ๆ ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง

ทุกวิกฤตคือโอกาสที่จะทำให้เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง จากวิกฤตนี้เราควรที่จะเรียนรู้ว่า

  • ผู้สูงอายุยังคงมีความสำคัญและยังมีบทบาทในสังคมอยู่ เพื่อให้คนไทยเราทุกคนอยู่อย่างมีคุณค่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปตลอดช่วงชีวิต
  •  ข้อมูลและฐานข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นหัวใจสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของกลุ่มคนและพื้นที่ นอกจากนี้เรายังควรจะเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึง และมีส่วนในการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือข้อมูลไม่ใช่เป็นเพียงแค่เสนอปัญหา แต่ต้องมีข้อมูลที่แสดงถึงศักยภาพของประชากรในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาต่อไปด้วย
  • เราต้องสนับสนุนการเตรียมความพร้อมทุกมิติ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม รวมถึงการสร้างทักษะการทำงานใหม่ ๆ และการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี เพราะเขาเหล่านี้จะกลายเป็นผู้สูงอายุในเร็ววัน
  •  การลดความเหลื่อมล้ำจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภายภาคหน้า ซึ่งความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว ต้องลดความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยีนวัตกรรม การเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ และความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิต
  •  สังคมไทยมีสถาบันทางสังคมที่ดีช่วยเกื้อหนุนให้ชุมชนและสังคม อาจารย์วิพรรณได้ย่อไว้ว่า “บ-ว-ว-ร-ร” ซึ่งหมายถึง บ้าน วัด วิสาหกิจชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาล การฟื้นฟูสถาบันทางสังคมเหล่านี้ให้เข้มแข็ง จะช่วยส่งเสริมให้สังคมและผู้สูงอายุในไทย สามารถอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

สภาพทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ

(Economic wellbeing and inequality)

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย อภิปรายต่อมาในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความยากจนในประเทศไทยอย่างไรบ้าง วิกฤตการณ์โควิด-19 สามารถกระทบแนวโน้มและทิศทางของความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง เราควรคำนึงถึงความไม่แน่นอนอะไรบ้าง ที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ที่จะส่งผลระยะยาวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความยากจนในประเทศไทย และประเทศไทยสามารถเรียนรู้ และเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์อื่น ๆ ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง ในมุมมองของความเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจมหภาค

ในภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 กำลังเผชิญอยู่กับการถดถอยอย่างรุนแรง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าการถดถอยเชิงเศรษฐกิจจะลดลงถึงร้อยละ 3-5 จากปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.4 คำถามคือทำไมประเทศไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าประเทศอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้มาตรการหยุดการเดินทางและการส่งออกกระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยตรง

ความยากจน

ที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบตัวเรากับเอเชีย ประเทศไทยถือว่ามีประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอยู่ไม่มาก แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ในความยากจนนั้นมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ทั้งยังสร้างความเสี่ยงให้คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ตกกลับลงไปอยู่ในความยากจนอีกครั้งก็เป็นได้ เราคาดการณ์ว่าในกรณีที่ผลกระทบแบบ “เบา” คนกลุ่มนี้อาจมีถึง 11 ล้านคนในเอเชีย ซึ่งถ้าเหตุการณ์หนักและยืดเยื้อกว่านี้ จำนวนนั้นก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งเรื่องเช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเอเชีย คนที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นคนที่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งรวมถึงอาหาร ที่อยู่อาศัย การท่องเที่ยวและการเดินทาง ภาคการค้าขายและการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งทอต่าง ๆ

ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำมีความหมายในหลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทรัพย์สิน โอกาส การเข้าถึงการศึกษา การเดินทาง หรือการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม (social mobility) เองก็ตาม ก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 เราเห็นการประท้วงทั้งที่ฮ่องกงและชิลี ซึ่งความเหลื่อมล้ำก็นับเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว ในชิลีทั้งที่เป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนก็ประท้วงกับการขึ้นค่ารถเมล์ และท้าทายความมั่นคงของรัฐบาล วิกฤตการณ์โควิด-19 กลายมาเป็นเครื่องยืนยันว่า ความลำบากจากความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงในชีวิต ยังคงมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

แต่มากกว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 นี้ ก็ยังมีแนวโน้มใหญ่ ๆ ระดับโลก รวมถึงการค้าระดับโลกที่กำลังชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ประเทศไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ของตน นอกจากนี้ทั้งภูมิภาคก็กำลังแก่ตัวลงเรื่อย ๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ทั้งยังมีกระบวนการเมืองที่ส่งเสริมให้มีความท้าทายใหม่ ๆ ตามมา เช่น การท่องเที่ยว การเดินทาง การขนส่ง ฝุ่นควัน และโควิด-19 คำถามที่สำคัญจากแนวโน้มใหญ่ ๆ เหล่านี้ คือ เราจะสามารถสร้างการเติบโตสำหรับทุกคน และทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างทัดเทียมได้อย่างไร

การเติบโตที่กระจายรายได้

ที่ผ่านมาเราเหมือนจะทำเช่นนั้นได้ดี คนที่อยู่ในระดับความยากจนขั้นสุด (extreme poor) เกือบจะหมดไปแล้วจากประเทศไทย ส่วนคนที่อยู่ในระดับความยากจนปานกลาง (moderate poor) ที่หมายถึงผู้ที่ไม่ได้ยากจนมาก แต่ยังใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ก็กำลังลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่คนที่อยู่ในระดับเปราะบางทางเศรษฐกิจ (economically vulnerable) ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้ยากจน แต่อยู่ในสถานะที่มีความเปราะบาง เช่น มีโรคภัย ไม่มีรายได้ ฯลฯ กำลังอยู่ในสัดส่วนที่คงที่ และคนที่อยู่ในระดับมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economically secure) ก็กำลังเติบโตขึ้นกลายเป็นร้อยละ 50-60 ของประชากรในเอเชีย ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ข้อสำคัญคือโควิด-19 เปิดโอกาสให้เรารับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ จะต้องรวมถึงโอกาสในการเปลี่ยนสถานะทางสังคม (mobility) ความมั่นคงในชีวิต (security) และสถาบันหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ (institutions) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคมได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นการพัฒนาการเปลี่ยนสถานะทางสังคม เช่น การให้โอกาสงาน การเพิ่มรายได้ แต่ปัจจุบัน วิกฤตการณ์นี้กำลังส่งเสริมให้เราคิดเกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบันมากยิ่งขึ้น เช่น การตกงาน และการให้บริการสาธารณะที่ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

ธนาคารโลกคอยจับตามองอัตราความยากจนของประเทศไทย ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องให้หลายสิบปีที่ผ่านมา โดยมีที่สูงขึ้นบ้างในบางปี เช่นปี พ.ศ. 2559 และ 2561 ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะผลักดันให้คนที่เปราะบางทางเศรษฐกิจตกกลับลงไปอยู่ใต้เส้นความยากจนอีกครั้ง ทั้งระหว่างและหลังจากวิกฤตการณ์นี้ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยากจน รวมถึงการลดลงของรายได้และโอกาสการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งนี้ สำหรับประเด็นนี้ รัฐสามารถช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระ และสร้างฉนวนในการเข้าสู่ความยากจนได้

กระบวนการลดความเหลื่อมล้ำจะยืดออกไป

ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยตามสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) กำลังลดลงอยู่ที่ช่วง 0.37 แต่ที่ผ่านมา 5-7 ปี เราคงอยู่ที่ตัวเลขความเหลื่อมล้ำนั้นมาโดยตลอด ถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวแสดงว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยังคงที่ แต่ความคงที่นั้นคงไม่ใช่เรื่องที่ดีเสียทีเดียว ที่ผ่านมาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำมีมากมาย แต่ส่วนหนึ่งคือค่าใช้จ่ายและรายได้ต่อครัวเรือนแตกต่างไปจากเดิม ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 การเปลี่ยนแปลงสถานะทางเศรษฐกิจมีอยู่สูง ส่งผลให้สังคมไทยมีลักษณะการเจริญเติบโตอย่างก้าวหน้า หรือ progressive growth แต่เมื่อไม่นานที่ผ่านมาในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 ปัจจัยดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่การเจริญเติบโตอย่างถดถอย คือ ยิ่งจนยิ่งเปลี่ยนสถานะตนเองยากขึ้น

มากไปกว่านี้ นโยบายการคุ้มครองสังคมในประเทศไทยควรได้รับการพัฒนา เพื่อรองรับแรงงานนอกระบบและสังคมสูงวัย สังคมไทยในปัจจุบันมีความเปราะบางมากอยู่แล้ว การมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น แรงงานนอกระบบมากขึ้น แรงงานต่างชาตินอกระบบมากขึ้น พร้อมทั้งคนตกงานมากขึ้น จะส่งผลให้ความเปราะบางของสังคมและเศรษฐกิจไทยมีสูงขึ้นมากกว่าเดิม

ทั้งนี้การจัดสรรงบคุ้มครองสังคมในไทยถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยใช้เพียงร้อยละ 3.7 ของ GDP เพื่อการคุ้มครองสังคม ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนามและจีน ที่ลงทุนถึงร้อยละ 6.3 หรือเกาหลีใต้ที่ลงทุนไปร้อยละ 10.1 เป็นต้น

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว รัฐของประเทศไทยให้งบประมาณและการดูแลผู้สูงอายุน้อยมาก เช่นเดียวกันวิกฤตการณ์นี้กำลังชี้ให้เห็นว่า เราควรจะคิดใหม่เพื่อให้การช่วยเหลือ และคุ้มครองกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคมเหล่านี้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลประโยชน์แก่สังคมได้ดียิ่งขึ้น


ความสัมพันธ์ ครอบครัว ความหมาย และความหวัง

(Changing relationships and values)


ดร. นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และหัวหน้าชุด โครงการวิจัยการเจริญพันธุ์และสุขภาวะ (สสส.) เล่าต่อในหัวข้อความสัมพันธ์และความหมาย โดยกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการรับมือที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น ในครอบครัวและในสังคมอย่างไรบ้าง ในสถานการณ์โควิด-19 มุมมองของคนและความหมายในชีวิตได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จะส่งผลระยะยาวกับความสัมพันธ์ต่าง ๆ อย่างไร

อาจารย์สรภพเริ่มต้นโดยการเล่าว่าที่ผ่านมา การพูดคุยถึงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรามักมองถึงการผลกระทบในภาพใหญ่ระดับประเทศและระดับโลก ทั้งระบบเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดระดับมหภาค วันนี้อยากชวนให้มามองถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อตัวเรา และความสัมพันธ์รอบ ๆ ตัวเรา

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีทั้งการเปลี่ยนแปลงโดยตั้งใจและถูกบังคับ มีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ มีทั้งด้านบวกและด้านลบ อยากชวนมองถึงการเปลี่ยนแปลงด้านบวกที่น่าจะรักษาไว้และพัฒนาต่อยอตต่อไป ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำมาเสนอมาจากผลการศึกษาของชุดโครงการวิจัยการเจริญพันธุ์และสุขภาวะ (สสส.) ซึ่งมีข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติเรื่องความสัมพันธ์ และความหมายของชีวิต

ในมิติด้านของครอบครัว การสำรวจประชากรวัยเจริญพันธุ์ในระดับประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีเพียงร้อยละ 53 ที่เห็นว่าการแต่งงานเป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิต และมีเพียงร้อยละ 62 ที่เห็นว่าการมีลูกเป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิต ทำให้เราเห็นว่าแนวความคิดแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับครอบครัว ที่เห็นว่าการแต่งงานและมีลูกเป็นขั้นตอนมาตรฐานของชีวิต ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์

โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีครอบครัวที่แหว่งกลาง หรือข้ามรุ่นวัยแรงงานไปเนื่องจากการไปทำงานในพื้นที่อื่น มากไปกว่านั้นการอยู่เพียงลำพังคนเดียวเริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของชีวิตครอบครัว ซึ่งประเด็นเชิงครอบครัวเหล่านี้มีนัยเชิงนโยบายที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง

ระหว่างการกักตัวอยู่บ้าน ประเด็นเชิงบวกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงครอบครัวคืออะไรบ้าง

การแบ่งเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ครอบครัวหลายครอบครัวจำเป็นต้องอยู่ห่างกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้ที่จะสื่อสาร และแสดงความห่วงใยระหว่างคนในครอบครัวผ่านช่องทางใหม่ ๆ นอกจากนี้ การทำงานจากบ้านหรือ work from home (#wfh) ยังเปิดโอกาสให้สามีและภรรยาได้ใช้เวลาร่วมกัน และช่วยกันทำงานบ้านมากขึ้น เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาด หรือการซักผ้า เป็นต้น การกักตัวอยู่บ้านนี้จึงเป็นเหมือนการทดลอง เปิดโอกาสให้ทั้งสามีและภรรยาได้ลองทำหน้าที่และลองเล่นบทของอีกฝ่าย ทำให้มีความเห็นใจและเข้าใจกันมากขึ้น

มากไปกว่านี้ การต้องกักตัวอยู่ที่บ้านยังทำให้เราต้องทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เราสามารถจ้างหรือรับบริการจากคนอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย เช่น การตัดผม การส่งลูกไปโรงเรียน เป็นต้น ในนัยนี้ มันกลับเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่เราจะได้เข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ผ่านประสบการณ์ตรง (empathy) ทั้งการเป็นช่างตัดผม การเป็นครู ทำให้เราเข้าใจความท้าทายข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้คนต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็มีส่วนช่วยที่สำคัญในการเป็นเครื่องมือสื่อสารให้กับสมาชิกในครอบครัว ผู้สูงอายุสามารถโทรศัพท์แบบเปิดวิดีโอกับลูกหลานได้อย่างง่ายดาย และเริ่มมีการจัดงานแต่งงาน ที่ใช้การโทรออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์แล้วเช่นเดียวกัน

สำหรับเรื่องการมีลูก ประเทศไทยเคยมีแนวคิดเรื่อง “มีลูกมากจะยากจน” ในอดีต และ “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ภาครัฐเคยมีความกังวลเรื่องจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง จะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีคนตกงานจำนวนมาก และความสามารถในการทำงานแทนคนของหุ่นยนต์ และสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการที่มีคนเดินทางออกมาทำงานนอกบ้านน้อยลง ทำให้เราน่าจะต้องกลับมาคิดใหม่ว่า จำนวนประชากรที่เคยตั้งเป้าไว้นั้นยังเหมาะสมอยู่หรือไม่

ความรักและความเหงา ช่วงเวลาที่คนต้องกักตัวอยู่บ้าน เป็นโอกาสที่เราจะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น นอกจากความรักรอบ ๆ ตัวเรา ทั้งแบบคู่รัก แบบเพื่อน หรือครอบครัวแล้ว ความรักอีกมิติที่สำคัญคือการรักตัวเอง การทบทวน ”ความสัมพันธ์กับตัวเอง” เป็นโอกาสที่เราจะเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสในการหาตัวตนของตัวเอง ตั้งแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ เป็นโอกาสทบทวนช่วงชีวิตที่ผ่านมา ขอบคุณและยินดีกับตัวเองในเรื่องดี ๆ ที่ผ่านมา เห็นถึงด้านที่บกพร่องเรื่องที่ผิดพลาด ให้อภัยตัวเองได้และเห็นถึงด้านที่ต้องปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทำให้เรารู้จักจัดการกับความเหงา และฝึกการอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข

การมีเพศสัมพันธ์และการกอด ความสัมพันธ์ในระยะใกล้ชิดถูกท้าทายอย่างมากในเวลาเช่นนี้ เพราะความใกล้ชิดและสัมผัส เป็นช่องทางการติดต่อแพร่ระบาดที่สำคัญ การกอดสามารถช่วยเพิ่มการหลั่งออกซีโทซิน (oxytocin) ที่ช่วยเพิ่มความผูกพันธ์ (bonding) และความไว้วางใจ (trust) ทั้งนี้เมื่อเราไม่สามารถกอดกันจริง ๆ ได้ คำถามที่น่าสนใจคือการกอดในโลกเสมือน จะมีผลต่างจากการกอดกันจริง ๆ อย่างไร ทั้งสำหรับคนกอดและคนที่ถูกกอด

คุณค่าและแก่นของชีวิต สถานการณ์นี้ทำให้เรามีโอกาสตั้งคำถามกับเรื่องความหมาย และคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นปัจจัยที่สำคัญของชีวิตยังคงเป็นปัจจัย 4 ใช่หรือไม่ ความหมายและแก่นของกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับการทบทวนและถูกปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การเวียนเทียนออนไลน์

เป้าหมายในชีวิต ที่ผ่านมาในอดีต การแข่งขันและการเป็นผู้ชนะในการแข่งขันถือเป็น “เรื่องใหญ่” ในระดับโลกเราได้เห็นสงครามโลกที่แข่งขันช่วงชิงพื้นที่ คน และทรัพยากรอื่น ๆ เราเห็นสงครามในรูปแบบสงครามการค้า และในปัจจุบันเราก็มักจะได้ยินว่าเรากำลังทำสงครามกับไวรัส และเป้าหมายคือการรบให้ชนะไวรัส แนวคิดเหล่านี้ส่งผลต่อวิธีการใช้ชีวิต และทำให้หลายคนตั้งเป้าหมายชีวิตในการเป็นผู้ชนะในการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ ทั้งเวทีการงาน ความรัก ครอบครัว และสังคม อยากชวนมองว่าหากเราเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตจากการแข่งขัน และการเป็นผู้ชนะในเวทีการแข่งขัน มาเป็นการอยู่ร่วมกัน การปรับตัว การเรียนรู้เรื่องใหม่ การแบ่งปัน การเป็นผู้ให้และผู้รับในจังหวะและในเวทีต่าง ๆ อาจจะเป็นมุมมองใหม่ของเป้าหมายชีวิต ที่จะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนขึ้น

นอกจากนี้สถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเปิดโอกาสให้เราตั้งคำถามมากขึ้นและหาคำตอบได้ลึกขึ้น ว่าเรารู้สึกอย่างไรและสามารถจัดการกับความไม่แน่นอน ความกล้า ความกลัว ได้ดีแค่ไหน

ความหวัง เป็นสิ่งน่าสนใจและสำคัญ ดังที่มีคำกล่าวว่า “คนอยู่ได้ด้วยความหวัง” หรือ “ความหวังเป็นลมหายใจ” อยากชวนคิดว่าสมดุลที่พอดีระหว่างการคิดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งในระดับสังคมและระดับปัจเจกควรเป็นอย่างไร เราน่าจะใช้ช่วงเวลานี้ในการทบทวนว่า ตัวเราและสังคมเราเข้าใจอดีตของเรามากแค่ไหน เข้าใจ “บุญเก่า” และ “กรรมเก่า” มากน้อยแค่ไหน ติดอยู่กับอดีตมากไปหรือไม่ มีการวางแผนและวาดฝันถึงอนาคตแค่ไหน และได้เริ่มลงมือสร้างอนาคต สร้าง “บุญใหม่” แล้วหรือยัง หรือยังคงเป็นแค่การทำนายและการวาดฝันถึงอนาคต โดยไม่ได้วางแผนที่จะลงมือทำอะไรต่อไป

งานเสวนาออนไลน์ New World Paradigm: ‘ไวรัส’ เปลี่ยนโลก #2 สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ร่วมกับ วิทยาลัยประชากรศาสตร์และโครงการจุฬาอารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย และชุดโครงการวิจัยการเจริญพันธุ์และสุขภาวะ (สสส.) ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เวลา 16:30-18:00 น. เกิดขึ้นบนฐานการวิเคราะห์แนวโน้มและความไม่แน่นอน ที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต โดยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ได้ร่วมมือกับ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อกวาดสัญญาณอนาคต (horizon scanning) และเผยแพร่เป็นรายงาน Thailand 2035: An Assessment of Critical Factors Impacting Thailand’s Development Prospects to 2035 การศึกษานี้พบ 8 ประเด็นสำคัญ คือ 1) สังคมสูงวัยและการทำงานรูปแบบใหม่ 2) เทคโนโลยีชีวภาพ 3) การเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก 4) ความเสี่ยงภัยพิบัติ 5) ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และทักษะศตวรรษที่ 21 6) ความเหลื่อมล้ำ 7) การย้ายถิ่นฐาน และ 8) เทคโนโลยีและการเมือง โดยงานเสวนาออนไลน์ New World Paradigm: ‘ไวรัส’ เปลี่ยนโลก #2 มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดความรู้ความเข้าใจ แนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดรายงาน Thailand 2035: An Assessment Of Critical Factors Impacting Thailand’s Development Prospects To 2035 ได้ที่นี่