บทสรุปจากงานเสวนาออนไลน์ ‘New World Paradigm: ไวรัสเปลี่ยนโลก’

เรื่อง: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และ พริมา สุวัณณาคาร

แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน หากทว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถูกขนานนามว่าเป็นการพลิกผันแห่งยุคสมัย ที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจเทียบเท่ากับสงครามโลกครั้งที่ผ่าน ๆ มา เทคโนโลยีการสื่อสารและการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่กระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศ ทำให้ข่าวสารทั่วโลกเดินทางด้วยความเร็วสูงรุดหน้าแซงการระบาดของโรคในบางพื้นที่ จนกระทั่งคนที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ไวรัสยังแพร่กระจายมาไม่ถึงดีด้วยซ้ำ ยังต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่แห่งไหน หรือมีความแตกต่างกันเช่นไร การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้ทำให้โลกของพวกเราทุกคนเปลี่ยนแปลงในฉับพลันและหยุดชะงักอย่างกะทันหัน และเมื่อเราหยุดนิ่ง เราได้เปิดตา เปิดหู และเปิดการรับรู้ถึงปัญหาหลายอย่างที่เราคุ้นเคยและมักถูกมองข้าม ในบางมุม เราอาจมองสถานการณ์นี้ด้วยความฉงน เพราะสิ่งที่เล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเช่นนี้ กลับมีอานุภาพถึงฆาตและรุนแรงขนาดที่สามารถสั่นคลอนระบบของสังคมโลกที่ซับซ้อนและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางได้ภายในพริบตา ท่ามกลางความพลิกผัน หลากหลายสถาบันเชิงนโยบายทั่วโลก เริ่มตั้งคำถามว่า โรคไวรัสนี้เพียงแค่กำลังเผยโฉมปัญหาต่าง ๆ ของโลกเราให้ได้เห็น หรือว่ามันกำลังจะเปลี่ยนโฉมระบบของโลกไปสู่สิ่งใหม่กันแน่

การอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แต่เราทุกคนต่างก็สามารถรับรู้ถึงผลกระทบเหล่านั้นผ่านประสบการณ์ตรงได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปิดพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ถนนที่เดิมเต็มไปด้วยฝุ่นควันท่อไอเสียและรถยนต์ที่ต่อแถวติดกันเป็นแพ กลับโล่งและว่างเปล่า เมืองขนาดใหญ่ทั่วโลกที่กลับกลายเป็นเสมือนเมืองร้าง เราหลายคนไม่สามารถทำกิจกรรมที่ตนทำมาตลอดชีวิต เช่น การออกจากบ้าน การไปทำงาน และแวะใช้พื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นภาพน่าประหลาดใจ ที่ชี้ถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่ตามมาจึงเป็นความไม่แน่นอนในอนาคต ว่าสถานการณ์ผิดปกตินี้จะคงอยู่ยาวนานแค่ไหน เราจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างปกติในแบบเดิมหรือไม่ มากไปกว่านี้ การที่เรายังไม่สามารถคาดเดาว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด ความไม่แน่นอนของอนาคตก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะฝืดอย่างรุนแรงมากขึ้น หนี้สินที่เพิ่มพูนเริ่มที่จะส่งผลให้ความอดทนของผู้คนมีลดลงตามลำดับ ความไม่แน่นอนที่ชัดเจนที่สุด คือ เราจะคงเหลือความ “ปกติ” ให้กลับไปหรือไม่หลังวิกฤตการณ์นี้

ในขณะที่เรานั่งอยู่ในบ้านและพยายามที่จะดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางสถานการณ์นี้ การคำนึงถึงความเป็นไปได้ในอนาคตอาจจะเป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะเมื่อเราเริ่มมองถึงอนาคตที่เต็มไปด้วย “ความปกติใหม่” ในโลกหลังโควิด-19 เราจะเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต และมากไปกว่านั้น เราอาจควรที่จะเริ่มสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เวลา 10:30-12:00 น. สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาหรือ IPPD โดยการนำของสายงาน Foresight and Futures Lab ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ New World Paradigm Series: ไวรัส เปลี่ยนโลก ในประเด็นด้านการย้ายถิ่นฐาน กระบวนการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์โลก และสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับ โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท Wisesight จำกัด ตามลำดับ เพื่อตั้งคำถามและสร้างพื้นที่ในการสนทนาเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของอนาคตเหล่านั้น และประเด็นสำคัญที่ต้องการชวนให้สังคมร่วมคิดไปข้างหน้าด้วยกัน

การย้ายถิ่นฐานและกระบวนการเมือง

อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ หัวหน้า Foresight and Futures Lab ของ IPPD และนักวิจัย โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านมุมมองของแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานและวิถีชีวิตของคนเมืองในประเทศไทย ทั้งยังกล่าวถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ของปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กระบวนการเมืองที่ผ่านมา

กระบวนการเมืองมักมาคู่กันกับการย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมือง ในประเทศไทยพื้นที่เมืองที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นกรุงเทพมหานคร ซึ่งในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการขยายการเติบโตของประชากรอย่างล้นหลาม เกินออกไปจากขอบเขตการปกครองไปครอบคลุมจังหวัดปริมณฑลโดยรอบ กลายเป็นมหานครกรุงเทพ(Bangkok Metropolitan Area) ในปัจจุบันแทน

โดยมีการคาดการณ์ว่าการเติบโตนี้จะยังคงต่อเนื่องไปในอนาคต การย้ายถิ่นฐานและการเพิ่มประชากรคนเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากการย้ายจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมืองเพียงอย่างเดียว แต่คนเมืองในมหานครกรุงเทพ แห่งนี้ได้รับการบริการอย่างมากมายด้วยแรงงานจากต่างประเทศ ที่มีอยู่เกือบร้อยละ 20 ของประชากรจดทะเบียนในกรุงเทพทั้งหมด

นอกจากนี้ กระบวนการเมืองยังเชื่อมโยงกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ ที่เมืองขนาดใหญ่มักมาพร้อมกับสนามบินและสถานีการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้พื้นที่เมืองกลายเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น มหานครกรุงเทพ จึงกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากมากที่สุดของประเทศไทย ที่มาพร้อมกับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

จากมุมมองดังกล่าว การมีแรงดึงดูดด้านโอกาสการทำงาน การศึกษา การหารายได้ การท่องเที่ยว การขนส่ง และการซื้อขาย ภายในเมืองและมหานครต่าง ๆ จึงมาคู่กับความหนาแน่น

ปัจจัยผกผันในเมือง

จากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความหนาแน่นที่เคยเป็นหนึ่งในแรงดึงดูดของพื้นที่เมืองต่าง ๆ กลับกลายเป็นความเสี่ยงในชีวิตอย่างรุนแรง เพื่อที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าว เมืองจึงพยายามที่จะลดความหนาแน่นของตนลง ทว่าการสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถมองเห็นความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ความพยายามในช่วงแรกเพื่อลดการเดินทางหรือการขนส่ง ย่อมหมายถึงว่าหลายคนกลับถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในบ้านของตนเป็นหลัก แต่คนเราอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน คนที่อาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นเพียงห้องเช่าขนาดเล็ก จากเดิมที่เคยพึ่งพาพื้นที่สาธารณะนอกบ้าน กลับต้องโดนจำกัดชีวิตของตนอยู่ในห้องที่เล็กเกินกว่าจะสามารถอยู่ได้อย่างสบาย มากไปกว่านั้น การรณรงค์ให้ทำงานจากบ้าน ยังเป็นเพียงทางออกสำหรับแรงงานบางกลุ่มเท่านั้น แรงงานหลายคนที่ยังต้องเดินทางเพื่อทำงานและใช้พื้นที่ทางกายภาพอยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนขายของหาบเร่หรือผู้ให้บริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ กลับไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป และคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มสำคัญที่จะได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อรายได้โดยตรง

ฉะนั้นแล้ว คำถามที่สำคัญหลังจากวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ จึงรวมถึงบทบาทของเมืองที่อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคต จากพื้นที่ที่เคยมีโอกาสทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดึงดูดสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานอื่น ๆ เข้าสู่เมือง อาจารย์ว่าน ได้เริ่มตั้งคำถามว่า เมืองได้ทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนอยู่มีความสุขกายสบายใจได้เพียงพอแล้วหรือยัง เพราะหากว่าเมืองสามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนได้ทุกรูปแบบ แรงงานก็คงจะไม่รีบหนีกลับบ้านเมื่อพื้นที่ทางรายได้และพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ได้เริ่มปิดตัวลง

อนาคตที่พึงประสงค์

จากปัญหาต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมา อนาคตของเมืองที่พึงประสงค์จะเป็นเช่นไร เราได้มองเห็นว่าเมืองไม่ได้ส่งเสริมให้คนรู้สึกสุขกายสบายใจได้อย่างเพียงพอ อาจารย์ว่านเสนอว่ารัฐควรเริ่มที่จะมองเห็นคนและมีข้อมูลของคนเมืองที่ละเอียดและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้รัฐสามารถที่จะตัดสินใจด้วยฐานข้อมูลที่ละเอียดและถี่ถ้วน มุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด รู้ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ที่ใดบ้าง และเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างไร การเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ความเสี่ยงรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของรัฐ และการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและคนเมืองในอนาคต

ระยะห่างทางสังคมกับต้นทุนทางสังคมจากการรวมตัว

ในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือภัยอื่น ๆ เรามักได้เห็นคนในสังคมต่างหันมารวมตัวกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันหาทางออก แต่ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ การอยู่รอดคือการสร้างระยะห่างทางสังคมเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส การร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาในครั้งนี้ จึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนเริ่มพึ่งพาพื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสารและสร้างเครือข่ายมากยิ่งขึ้น การรวมตัวเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นคึกคักอยู่บนโลกออนไลน์

นอกจากนี้ เมื่อเมืองมาพร้อมกับแนวความคิดในการแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน พื้นที่เดินทาง การแบ่งปันสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ เราอาจควรเริ่มตั้งคำถามว่าเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะควรมีมากน้อยขนาดไหน ชัดเจนเพียงไร และเส้นในแนวความคิดดังกล่าว ควรมีความยืดหยุ่นเพียงใดต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ความไม่แน่นอนของอนาคตคนเมือง

อาจารย์ว่าน สรุปประเด็นคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของอนาคตคนเมืองอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้ ไว้ดังต่อไปนี้ กระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสังคมไทยจะถูกเร่งเครื่องให้เร็วขึ้นหรือช้าลงเพียงใด การย้ายถิ่นฐานและกระบวนการเมืองที่คงจะมีความสำคัญและกลับมามีแรงดึงดูดในอนาคต จะกลับมาอยู่ในสถานะนั้นได้หรือไม่และเมื่อไร เพราะการย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาเดิมอาจทำให้เกิดคำถามต่อความสุขของชีวิตตนเองที่อาศัยอยู่ในเมือง จนรู้สึกไม่จำเป็นที่จะต้องจากบ้านเพื่อมาหาโอกาสในเมืองอีกต่อไป

เมืองจึงต้องเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าส่งเสริมให้คนมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีพอแล้วหรือยัง สำหรับกระบวนการโลกาภิวัตน์ ความไม่แน่นอนของอนาคตเมืองจะอยู่ภายใต้ประเด็นการเชื่อมต่อของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกของเมืองต่าง ๆ ซึ่งเมืองทั่วโลกล้วนต้องพึ่งพาเครือข่ายนี้เพื่อความอยู่รอดของตนทั้งนั้น ทว่าความไม่แน่นอนที่สำคัญที่สุด คือ เราจะสามารถใช้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ เพื่อปรับปรุง แก้ไข และเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ หรือเราจะปล่อยให้มันเป็นเพียงฝันที่ลอยผ่านไป

ภูมิรัฐศาสตร์โลก

อาจารย์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัยของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับมหาอำนาจใหม่ของโลกภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านมุมมอง 3 ด้าน คือ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ และการสร้างอำนาจของจีนและการสิ้นสุดความเป็นผู้ครองอำนาจของสหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แนวโน้มที่ขัดแย้ง

ในช่วงระยะเวลา 4 – 5 ปีที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในภูมิรัฐศาสตร์ของโลก อาทิ การปรับเปลี่ยนของขั้วอำนาจของโลก ความคุกรุ่นของแนวคิดชาตินิยมในหลากหลายประเทศ การขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำของประธานาธิบดีทรัมพ์ และการกดดันด้วยสงครามการค้า เป็นต้น อาจารย์อาร์มได้ตั้งคำถามว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว หรือเป็นภาพของการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของแนวโน้มขนาดใหญ่ อันได้แก่ โลกาภิวัตน์ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ และอำนาจของสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลก และที่สำคัญไปกว่านั้น วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ ปัจจัยที่ทรงพลังที่สร้างความพลิกผันรุนแรงที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรในระยะยาวหรือไม่

ความเข้าใจที่ผิดพลาดในช่วงแรก

เกิดความเข้าใจผิดอยู่ 2 ด้านในช่วงแรกของวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ คือ 1) หลายคนเข้าใจว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 เป็นเพียงปรากฏการณ์ระยะสั้น ในระดับเดียวกับโรค SARS ที่เกิดขึ้นในปี 2552 หากทว่าเราได้พบว่าความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ เทียบเท่ากับการระบาดของไข้หวัดสเปนในช่วงปี 2461 (ค.ศ. 1918) ที่มีระยะเวลาการระบาดยาวนานถึง 1 – 2 ปีเลยทีเดียว และ 2) หลายคนนึกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถูกจำกัดวงอยู่แค่ภายในประเทศจีน อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่า การคาดการณ์เหล่านี้เป็นการคาดการณ์ที่พลาดไป เพราะไวรัสในปัจจุบันสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก และยกระดับกลายเป็นวิกฤตการณ์การระบาดรุนแรงระดับโลก

การทวนกระแสโลกาภิวัตน์

การแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ เน้นย้ำถึงแนวโน้มการทวนกระแสของระบบโลกาภิวัตน์ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1) วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสนี้ ส่งผลให้หลายคนเริ่มมองเห็นช่องว่างของระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกเดิม (global supply chain) ที่เกิดขึ้นจากการปิดเมืองและปิดประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับตัวหาหนทางในการกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายระบบห่วงโซ่อุปทานของตนให้หลากหลายมากขึ้น 2) วิกฤตการณ์นี้ส่งผลให้แนวคิดชาตินิยมมีความรุนแรงมากขึ้น โดยสังเกตได้จากนโยบายที่มีพื้นฐานจากแนวคิดการปิดกันต่างชาติ หรือการวิพากษ์กันว่าไวรัสเกิดขึ้นจากการลงมือทำของประเทศใด และ 3) วิกฤตการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นว่าองค์กรระดับนานาชาติอาจไม่ได้มีการจัดการหรือมีความสามารถในการรับมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวเนื่องถึงการทำงานและเครื่องมือที่ถูกใช้โดยองค์กรระดับโลก โดยเฉพาะ องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) เป็นต้น

อาจารย์อาร์ม ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ จะเป็นตัวพลิกทัศนคติของโลก ไม่ใช่เพราะมันเกิดขึ้นจากประเทศจีน แต่เพราะมันได้กระจายตัวเข้าสู่ประเทศตะวันตก จนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้มีการออกนโยบายที่เข้มงวดเพื่อยับยั้งการระบาดครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการติดเชื้อและอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก ทั้งนี้ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในการพยายามลดอัตราการติดเชื้อและการอยู่รอดของคนในประเทศ จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว โดยปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จได้ คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ในทางกลับกันก็มีปัจจัยเหนี่ยวรั้ง คือ ความเหลื่อมล้ำและสวัสดิการสุขภาพที่ไม่ครอบคลุมถึงประชาชนทุกคนในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการจัดการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งนี้ การกระจายอำนาจและความเป็นปัจเจกของระบบในสหรัฐอเมริกาที่แตกต่างจากระบบรวมศูนย์และร่วมมือของประเทศจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้

การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่

ในสหรัฐอเมริกา วิกฤตการณ์นี้ยังส่งผลให้หลายหน่วยงานเริ่มหันมาคิดถึงระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม อันเผยโฉมอย่างแท้จริงท่ามกลางความวุ่นวายและการแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ ส่งผลให้แนวความคิดด้านรายได้ขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน (universal basic income) หรือสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า (universal healthcare) มีการยอมรับมากขึ้น

การสร้างอำนาจของจีนและการสิ้นสุดความเป็นผู้ครองอำนาจของสหรัฐอเมริกา

หลายทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ครองอำนาจเดียวบนเวทีโลก แต่ทว่าในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงการก้าวขึ้นมาของประเทศจีนผ่านการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีการยอมรับระบบแบบประเทศจีนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา อันรวมไปถึง ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และแม้กระทั่งระบบการจัดการภายใต้วิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ที่แม้จะเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวิธีการหรือระบบที่ดีที่สุด ที่สามารถนำไปใช้ได้เลยในทุกบริบท

ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศจีนเองยังไม่เรียบร้อยดี เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนจะเป็นเช่นไร ทว่า อาจารย์อาร์มมองว่าการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลของประเทศจีนได้เริ่มผลักดันให้กลับมาสู่ปกติ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศจีนดำเนินไปได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งนี้

คำถามสำหรับประเทศไทย

อาจารย์อาร์มมีข้อเสนอแนะว่า จากวิกฤตการณ์ในขณะนี้ ประเทศไทยมี 3 ประเด็นที่ควรต้องคำนึงถึง คือ 1) ประเทศไทยมีวิธีที่จะรักษาเสถียรภาพอย่างไร หากวิกฤติการณ์นี้จะคงอยู่ต่อไปในระยะยาว 2) ประเทศไทยจะต้องออกแบบฐานเศรษฐกิจใหม่อย่างไร เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต และ 3) ประเทศไทยจะสามารถปรับตัวได้อย่างไรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจของโลกในระยะยาว

อาจารย์อาร์ม ตั้งข้อสรุปว่าการสื่อสารกับภาคประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่นำมาสู่เสถียรภาพในระยะยาวได้

สื่อสังคมออนไลน์และทัศนคติของสังคม

คุณ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ร่วมเสวนาท่านสุดท้าย ได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนผ่านเครื่องมือการสื่อสารที่เปลี่ยนไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สื่อสังคมออนไลน์ท่ามกลางวิกฤติ

สื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสื่อสารในสังคมที่มีพลังมหาศาล ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารผ่านหน่วยงานที่ได้รับสัมปทานเท่านั้น แต่การเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์เป็นเสมือนการมอบสิทธิในการสื่อสารดังกล่าวให้อยู่ในมือของประชาชนทุกคน สร้างผลกระทบทั้งในเชิงโอกาสและความท้าทายที่มากมายตามมา ในปัจจุบัน เราสามารถที่จะมองเห็น ได้ยินเสียงความคิดและความกังวลของประชาชนจำนวนมากในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ไม่ได้เป็นเพียงการคุกคามทางชีวภาพ แต่ยังก่อให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนกของผู้คน ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมและเหตุการณ์ต่าง ๆ อาทิเช่น การลดลงอย่างรวดเร็วของดัชนีในตลาดหุ้น การกักตุนของใช้อย่างรุนแรง เนื่องจากความตื่นตระหนกจากการรับสื่อสังคมต่าง ๆ แม้รัฐบาลจะประกาศและยืนยันว่าอาหารและของใช้มีอย่างพอเพียง เป็นต้น เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ในการภาวะที่ไม่ปกติ

หากทว่า สถานการณ์นี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียเพียงอย่างเดียว บริษัทในภาคการสื่อสารและเทคโนโลยี ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากบ้าน สอดคล้องกับกระแสรูปแบบการทำงานที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การทำงานออนไลน์ซึ่งไม่ยึดติดกับพื้นที่ ได้แก่ เหล่าคนดิจิทัลไร้ถิ่นฐาน (digital nomad) ซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คุณกล้าเชื่อว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันครั้งสำคัญที่จะส่งเสริมให้เมืองและพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจต่าง ๆ หันมาพัฒนาระบบสาธารณูปการด้านการติดต่อสื่อสารมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่ผิดและข่าวปลอม

ในส่วนหนึ่งวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังได้รับผลกระทบมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งรวมถึงข่าวลือ ข่าวปลอมต่าง ๆ อีกด้วย เมื่อสังคมสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์และมีความต้องการข่าวสารที่รวดเร็วทันใจมากยิ่งขึ้น

รัฐบาล หน่วยงาน และองค์กรที่สำคัญ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับสาธารณชนให้ท่วงทันเหตุการณ์ โดยควรเป็นข้อมูลที่สั้น กระชับ และถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดและการสื่อสารที่ผิดพลาด

สิ่งที่พบ

คุณกล้าได้นำเสนอแนวโน้มต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ที่สัมพันธ์กันกับกิจกรรมของคนไทยภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ผ่าน ZOCIAL EYE ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเฝ้าดูบทสนทนาและพฤติกรรมของผู้คนบนโลกโซเชียลหรือที่เรียกว่า social listening ของ Wisesight มาวิเคราะห์ว่าประชาชนบนสื่อออนไลน์เหล่านี้มีส่วนร่วมกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง หรือปัจจัยอะไรที่ส่งผลทำให้เกิดความตื่นตระหนกของคน เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและการสื่อสารของคนในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้

เก็บตกความคิด

ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะสามารถระดมทุนช่วยเหลือจากคนในสังคม สื่อสังคมออนไลน์ก็มาพร้อมกับความท้าทายมากมายเช่นกัน อันรวมถึงการกลั่นแกล้งและดูถูก (bullying) กันบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เมื่อพื้นที่แพลตฟอร์มเหล่านี้มักไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมที่ชัดเจน เราทุกคนจึงต้องระมัดระวังและเป็นผู้ควบคุมการใช้งานของแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วยตนเอง จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ เราจำเป็นจะต้องรับสารต่าง ๆ จากข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ จะต้องมาคู่กับวิจารณญาณที่มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากสื่อ และไม่ก่อให้เกิดการวิตกกังวลจนมากเกินไป

งานเสวนาออนไลน์ New World Paradigm: ไวรัสเปลี่ยนโลก ร่วมกับ โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท Wisesight จำกัด ในวันที่ 27 มีนาคม 2563 เวลา 10:30-12:00 น. จัดขึ้นจากฐานการวิเคราะห์แนวโน้มและความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตในปลายปี 2562 โดยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ได้ร่วมมือกับ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อกวาดสัญญาณอนาคต (horizon scanning) และจัดทำออกมาเป็นรายงาน Thailand 2035: an assessment of critical factors impacting Thailand’s development prospects to 2035 การศึกษานี้พบ 8 ประเด็นสำคัญ คือ 1) สังคมสูงวัยและการทำงานรูปแบบใหม่ 2) เทคโนโลยีชีวภาพ 3) การเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์โลก 4) ความเสี่ยงภัยพิบัติ 5) ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และทักษะศตวรรษที่ 21 6) ความเหลื่อมล้ำ 7) การย้ายถิ่นฐาน และ 8) เทคโนโลยีและการเมือง โดยงานเสวนาออนไลน์ New World Paradigm: ไวรัสเปลี่ยนโลก เป็นการศึกษาต่อเนื่องมาจากการพัฒนาความเข้าใจแนวโน้มโลกที่เปลี่ยนไปหลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดครั้งนี้

ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดรายงาน Thailand 2035: An Assessment Of Critical Factors Impacting Thailand’s Development Prospects To 2035 ได้ที่นี่