อนาคตหลังปี 2020 ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Intelligent Society)?

2020 เป็นปีที่ยาก นับตั้งแต่เดือนแรกของปี จนมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะผ่านมาได้ไม่นาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไล่เรียงมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่มีทีท่าสิ้นสุด การเกิดโรคระบาด ไปจนถึงความกังวลในเรื่องของการเข้ามาของ AI ที่อาจส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น รัฐบาล เอกชน หรือสังคม

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือโจทย์หลักของวงเสวนาในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building an Intelligent Society” ที่จัดขึ้นโดย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีในการจุดประกาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยและร่วมกันสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญาในศตวรรษที่ 21 ทั้งในมิติของสังคมและเศรษฐกิจในทศวรรษใหม่ที่ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว

เหรียญสองด้านของโอกาสและความท้าทาย

ปัจจุบันนี้โลกเราอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด รวมถึงทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ส่งผลต่อเนื่องมาจากปีที่มา หรือจากโรคระบาดที่กำลังเป็นที่น่ากังวลใจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยซึ่งถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เนื่องจากเกี่ยวโยงกับคนมากกว่า 10 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ข้างต้นหากมองดี ๆ ในเชิงเศรษฐกิจ ประเทศไทยสามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้ แม้ขณะนี้สหรัฐอเมริกา และจีนจะยังมีปัญหากันอยู่ แต่ประเทศไทยก็สามารถทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนได้ เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

และแน่นอนว่า เมื่อทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของความเจริญได้สำเร็จ สิ่งที่ตามมาก็คือ การขึ้นเป็นผู้นำในการสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่อุดมปัญญา ผ่านการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างการนำแนวคิดแบบ Circular Economy หรือที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ มาใช้ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและผลิตสินค้าหรือบริการทั้งหมด เพื่อรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด

ก้าวต่อไปของสังคมไทยในยุค AI

4 – 5 ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันว่า AI (Artificial Intelligence) มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีและนวัตกรรมเริ่มหลุดออกจากกลุ่มพัฒนามาสู่สังคมทั้งยังข้องเกี่ยวกับมนุษย์มากขึ้น สังเกตได้จากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเพียง 10 ปีที่แล้ว แต่กลับล้ำสมัยจนแม้แต่คนสมัยก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็คาดไม่ถึง กล่าวคือ จากที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เคยกระจายตัวอยู่แค่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ปัจจุบันได้แพร่ขยายออกไปทุกสารทิศทั่วโลก และในตอนนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดนักลงทุนที่สุด

อย่างไรก็ตาม การที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ผลที่ตามมานั้นคือ การเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี เมื่อสังคมเริ่มเห็นผลกระทบจากการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมากขึ้น แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้ใช้โทรศัพท์สูงแต่ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกลับต่ำ ย้ำให้เห็นชัดว่า ประเทศไทยยังคงมีช่องโหว่ของความเข้าใจ และการใช้เทคโนโลยีที่กำลังเริ่มขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น การเชื่อมต่อ และสร้างความเข้าใจต่อประเด็นข้างต้นเพื่อไม่ให้ใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง คือ อีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของสื่อ โดยการประยุกต์ใช้หรือนำเครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาส่งเสริมการนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้องในทุกมิติ เพื่อลดการเกิดช่องว่างทางสังคมที่มีต้นเหตุจากการเทคโนโลยี คือ หน้าที่หลักในการทำงานของสื่อยุคใหม่

4 โจทย์หลักของประเทศไทยหลังปี 2020

สมการแก้โจทย์สำหรับอนาคตหลังปี 2020 ท่าทางจะเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีหลาย ๆ คนพอรับรู้และเริ่มเตรียมพร้อมเพื่อรับมือแล้วก็ตาม แต่ดูว่าการแก้ไขโจทย์หลังปี 2020 นี้ต้องการความช่วยเหลือจากทุก ๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและสังคม

โจทย์แรก ที่ถูกกล่าวถึงในวงเสวนาโดย คุณรุ่งโรจน์ มองว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เมื่อประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยในปัจจุบัน จากในอดีตที่ใช้คนวัยทำงาน 2 คน ต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ปัจจุบันอัตราส่วนกลับลดลงเหลือ 1 ต่อ 1 เท่ากัน นั่นหมายความว่า กลุ่มคนที่มีรายได้หรือวัยทำงานจะหายไปครึ่งหนึ่ง

โจทย์ที่สอง ที่เป็นกระแสพูดถึงอยู่อย่างต่อเนื่องคือเรื่องของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเข้าขั้นวิกฤติ และไม่มีใครหลีกหนีผลกระทบจากตรงนี้ได้ โจทย์ข้อนี้คือประเทศไทยจะใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติและใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกนานแค่ไหน หากยังไม่มีใครคิดจะทำอะไร

โจทย์ที่สาม เกี่ยวข้องกับสังคมดิจิทัล เมื่อผลกระทบจากเทคโนโลยี และดิจิทัลก่อให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี โจทย์ข้อนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้การศึกษาและกฎหมายให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีทั้งในภาคธุรกิจและเอกชน กล่าวคือ ในภาคของสังคม รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายอย่างไรเพื่อไม่ให้ประชาชนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลังจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาคนให้มีการคิดเชิงวิพากษ์ และในฝั่งธุรกิจ รัฐบาลเองก็ต้องชัดเจนในตัวกฎหมายเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นและกล้าที่จะลงทุน

โจทย์ที่สี่ หรือโจทย์สุดท้ายเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นสังคมอุดมปัญญาอย่างสมบูรณ์ สำหรับ ThaiPBS ในฐานะสื่อ นั้นจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้กับทุกองค์กร ผ่านการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ที่ประชาชนเผชิญอยู่ อีกทั้งประชาชนในทศวรรษนี้จำเป็นต้องพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี การแก้ไขโจทย์ข้างต้นจำเป็นต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้เป็นตัวหลักในทุกโจทย์ข้างต้นและช่วยส่งเสริมออกมาให้ดีได้คือ รัฐบาล โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล มองว่า หัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้ และจะไม่มีวันแก้ไขโจทย์ข้างต้นได้หรือพัฒนาเป็นสังคมอุดมปัญญาได้สำเร็จหากขาดสิ่งนี้ไป ได้แก่ ข้อมูล เมื่อข้อมูลในทุกวันนี้ไม่ต่างอะไรกับทุน กล่าวคือ รัฐบาลต้องทำให้ data (ข้อมูล) เป็นทุนที่ใคร ๆ ก็สามารถหยิบนำไปใช้ในการพัฒนาให้ประเทศดีขึ้น ไม่ว่าจะในภาคสังคมและภาคธุรกิจเองก็ตาม เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะอย่างยั่งยืนทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจด้วยใจมุ่งมั่นที่จะไม่ทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง สู่การสรรค์สร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง