บทสรุปงานเสวนาออนไลน์พิเศษ “ก้าวนำความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย “อนาคตศึกษา”

เขียน: รัสมิ์กร นพรุจกุล
เรียบเรียง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
นพ. ดร.สรภพ เกียรติพงษ์สาร
  • ปัจจุบัน อนาคตศึกษาถูกนำมาใช้ในกลุ่มผู้ออกแบบนโยบาย (policy maker) ในหลาย ๆ ประเทศ ผ่านเครื่องมือหรือนวัตกรรมทางสังคมต่าง ๆ เช่น big data หรือ learning machine
  • อนาคตศึกษาโดดเด่นอย่างมากในประเทศฟินแลนด์และสิงคโปร์ แต่มีการนำมาใช้ที่ต่างกัน
  • สำหรับประเทศไทย อนาคตศึกษายังคงเป็นเรื่องใหม่ และจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้างต่อไป โดยท่านสามารถหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “อนาคตศึกษา” ฉบับ e-Book ฟรีที่ https://www.tsri.or.th/th/knowledge/publication

ในปัจจุบัน บริบทสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นการระบาดของ วิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งได้พลิกสังคมโลกจากรูปแบบเดิม ไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ๆ เช่น ทุกคนในสังคมต่างตระหนักถึงการใส่หน้ากากอนามัย การปฏิบัติตามนโยบาย social distancing เป็นต้น เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดนั้น เกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่ทันได้ตั้งตัว
ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในสังคม จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ ปัจจัยต่าง ๆ การสร้างองค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจ และจัดการกับอนาคต ผ่าน “อนาคตศึกษา” หรือ “อนาคตศาสตร์” ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เข้ามามีบทบาทต่อการวางแผนอนาคต โดยเป็นการประกอบร่างของเนื้อหา ที่ครอบคลุมพื้นฐานหลากหลายวิชา เช่น ด้านปรัชญา ด้านวิธีการวิทยา กรอบแนวคิด และทฤษฎีที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาประสานรวมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมวิเคราะห์ เปิดกรอบแนวคิดแบบใหม่ ๆ ที่ใช้ทั้งความรู้เชิงตรรกะในการวิเคราะห์และจินตนาการ จนอาจกล่าวได้ว่า อนาคตศึกษาคือ การก้าวพ้นจากกรอบแนวคิดเดิม ๆ มีความเป็นพหุศาสตร์รวมทั้งผสมผสานศาสตร์จากแต่ละแขนง เข้ามารวมกันเป็นหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ อนาคตศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน โดยเฉพาะต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องกับการออกนโยบายสาธารณะในอนาคต เพื่อร่วมกันมองและหาคำตอบอนาคตด้วยกันว่า ต่อจากนี้ไปหลังยุคโรคระบาดโควิด-19 เราจะเดินไปในทิศทางใดร่วมกัน
จากที่กล่าวมาข้างต้น ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563 สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนาออนไลน์พิเศษ “ก้าวนำความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย “อนาคตศึกษา” เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสารข้อมูล และองค์ความรู้ด้าน “ศาสตร์ของการศึกษาและล่วงรู้อนาคต ภายใต้แนวคิดทฤษฎีต่างๆ ในหลากหลายมิติความรู้” พร้อมทั้งเปิดตัวหนังสือ “อนาคตศึกษา” ซึ่งเป็นผลผลิตของการรวบรวม และสังเคราะห์องค์ความรู้ จากโครงการวิจัย “ปริทัศน์สถานภาพความรู้ด้านอนาคตศึกษา” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

อนาคตศึกษาคืออะไร?

รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ นักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย ได้บรรยายข้อมูลพื้นฐานของ “อนาคตศึกษา” ว่า เป็นศาสตร์ที่มุ่งสร้างทฤษฎี หลักการ และวิธีการในการทำความเข้าใจ และจัดการกับอนาคต กล่าวคือ การมองอนาคตนั้น เป็นเหมือนพื้นฐานที่มนุษย์มีอยู่ทั่วไป แต่จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามวิวัฒนาการของสมอง ความรู้ และสภาพสังคม

อย่างไรก็ดี อนาคตศึกษาเริ่มมีแนวคิดในการเป็นศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อมนุษย์จำเป็นต้องวางแผนอนาคตเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมสมอง เพื่อให้เกิดการกระบวนการคิดในการมองอนาคตอย่างเป็นระบบ และต้องใช้ข้อมูลที่ชัดเจนในการวางแผน
อนาคตศาสตร์ในยุคแรกที่เกิดขึ้นมา จึงเป็นอนาคตศาสตร์เชิงพยากรณ์ และเชิงประจักษ์นิยม ต่อจากนั้นได้มีการนำความรู้ดังกล่าวมาใช้ในด้านอื่น ๆ มากขึ้น เช่น เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น และมีพัฒนาการต่อมาเป็นอนาคตศาสตร์เชิงวิพากษ์ ที่จะต้องมองมุมกว้างมากกว่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่า อนาคตศึกษาจะต้องมองในมุมของสิ่งแวดล้อม โลก และมนุษยชาติให้มากขึ้น
หลังจากนั้นกลุ่มผู้ศึกษาอนาคตศาสตร์ ต่างได้มีการถกเถียงกันว่า การมองอนาคตไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องเป็นเรื่องของทุกคน หรือเเป็นเพียงเฉพาะสังคมศาสตร์หรือไม่ อีกทั้งยังควรที่จะสามารถนำศาสตร์อื่น ๆ มาใช้ควบคู่กันไปด้วย ส่งผลให้ในปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศได้นำเครื่องมืออื่น ๆ มาใช้มากยิ่งขึ้น เช่น big data, machine learning หรือปัญญาประดิษฐ์

ทำไมเราต้องศึกษาอนาคต?

รศ. ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการภารกิจอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ และการริเริ่มงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ สกสว. ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปในการจัดทำหนังสือ “อนาคตศึกษา” ว่า สกสว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของอนาคตศึกษา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เข้ามามีบทบาทต่อโครงการวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะได้
มากไปกว่านั้น รศ. ดร.ชนาธิป ยังเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการส่งเสริมการศึกษาด้านอนาคตศาสตร์ต่อคนทั่วไปให้เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ทำให้ศาสตร์แขนงนี้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันศาสตร์ดังกล่าว ยังจำกัดอยู่เพียงในวงวิชาการ รวมทั้งยังคาดหวังว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยพัฒนา “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ในศาสตร์นี้ ในปัจจุบัน ขณะนี้ก็ได้สื่อสารสู่สาธารณะผ่านหนังสือ “อนาคตศึกษา” รวมทั้ง มีการเปิดหลักสูตรการสอนในระดับอุดมศึกษา

สอดคล้องกับ ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) และหัวหน้าโครงการ “คนไทย 4.0” ได้อธิบายถึงความเกี่ยวข้องของโครงการและอนาคตศึกษาว่า โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการที่เน้นเรื่องการบูรณาการ สร้างความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างนวัตกรรมของสังคม ตรงกับวิธีการของอนาคตศึกษา ที่ได้นำศาสตร์หลายแขนงมาผูกโยงกัน ทั้งยังได้นำวิธีการใหม่ ๆ เช่น big data และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้งานด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า “อนาคต” เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องสนับสนุนให้มีการเรียนรู้อนาคตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์ตรง พบว่า คนต่างจังหวัดมีความสนใจในอนาคตของตน และพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี การวางแผนอนาคตจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แผนและแนวทางในการพัฒนามีความแม่นยำ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ฟินแลนด์และสิงคโปร์: ตัวอย่างประเทศโดดเด่นด้านอนาคตศาสตร์

รศ. ดร.อภิวัฒน์ ยกตัวอย่างประเทศที่มีความโดดเด่นด้านอนาคตศาสตร์ อย่างฟินแลนด์ และสิงคโปร์ มาอธิบายเชิงเปรียบเทียบว่า ทั้งสองประเทศนั้น ภาครัฐต่างให้ความสำคัญกับการคาดการณ์และอนาคตศึกษา มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะทาง และนำผลผลิตไปใช้ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ
สำหรับฟินแลนด์นั้น มีกระบวนการที่เน้นการตรวจสอบถ่วงดุล ผ่านหน่วยงานที่ทำงานด้านอนาคตศาสตร์ ที่มีบทบาททั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคมด้วย ทั้งยังมีการตั้งสถาบันเฉพาะทาง เผื่อถ่วงดุลกันและกัน รวมถึงการสร้างชุมชนด้านอนาคตศึกษาขึ้นมาในหลายกลุ่ม จนอาจกล่าวได้ว่า ภาคประชาชนของฟินแลนด์นั้น มีบทบาทในอนาคตศึกษาสูง
ตรงข้ามกับสิงคโปร์ที่การสร้างชุมชนผู้ศึกษาอนาคตศึกษา ยังจำกัดอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย และผู้ที่มีบทบาทหลักนั้น คือ นักวิชาการของสำนักนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการทำงานแบบเน้นการรวมศูนย์เป็นหลัก กล่าวคือ มีองค์กรที่จัดตั้งภายใต้รัฐบาล จึงทำให้นโยบายที่มาจากอนาคตศึกษา ต่อแผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายสาธารณะต่าง ๆ เป็นในลักษณะบน-ล่าง (top-down)
ดร. นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ซึ่งมีโอกาสได้เข้าร่วมพูดคุยกับผู้นำด้านอนาคตศึกษาจากหลายประเทศ ในการประชุมที่จัดขึ้นโดย the Centre for Strategic Futures สำนักนายกรัฐมนตรี ประเทศสิงคโปร์  พบว่า 3 หัวข้อหลักที่หารือกัน ได้แก่ ภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ความมั่นคง (security) และสังคม (society) โดยผู้นำด้านอนาคตศึกษาของแต่ละประเทศพบว่า ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการที่กระบวนการคิดและการมองอนาคต ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือแผนอนาคตที่ได้นำเสนอเป็นแผนระยะยาว จะทำอย่างไรให้เชื่อมกับการตัดสินใจในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ดร. นพ.สรภพ ยังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกว่า แท้จริงแล้วอนาคตศึกษายังเป็นเรื่องของแนวความคิด (mindset) และกระบวนการ (process) หมายความว่า การจะทำให้อนาคตศึกษาประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม และไม่น่าจะเป็นเรื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น
อีกทั้ง ดร. นพ.สรภพ ยังมองว่าอนาคตศึกษา ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะทางของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสหศาสตร์อย่างแท้จริง เช่น ในการประชุมปิดงานเสวนาดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงนักวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีนักเขียนนิยายแนวไซไฟ (science fiction) เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างความคิดเชิงตรรกะและจินตนาการ โดยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า หนังสือ “อนาคตศึกษา” ของ รศ. ดร.อภิวัฒน์ เล่มนี้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานด้านอนาคตศึกษา

อนาคตศึกษาไทย อนาคตประเทศไทย?

อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย รศ. ดร.อภิวัฒน์ เห็นว่า อนาคตศึกษาของไทยยังถือเป็นศาสตร์แขนงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังวิเคราะห์อยู่ในระยะสั้น – กลาง (ประมาณ 5-10 ปี) และมีงานค่อนวิจัยค่อนข้างน้อย ที่วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รวมถึงยังมีข้อจำกัดที่ยังจำเป็นต้องปรับปรุง เช่น เรื่องการนำทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับอนาคตศึกษามาใช้เพิ่มเติม ส่งผลให้การนำผลลัพธ์ที่ได้รับจากงานวิจัยเชิงอนาคตศึกษา ก็ไม่ถูกนำไปใช้จริง เพราะไม่เชื่อใจและไม่มั่นใจในกระบวนการ
สอดคล้องกับที่ ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การวางแผนอนาคตของชาติ ควรเป็นของเราทุกคน และคนรุ่นใหม่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในครั้งนี้
“การวางแผนนโยบายของประเทศไทยเป็นเอกอนาคต หมายถึง เป็นอนาคตหนึ่งเดียว ที่มีคนกลุ่มเดียวมอง คำถามคือแล้วคนอื่นเห็นด้วยหรือเปล่า ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของการทำแผนนโยบายสาธารณะ ทั้งเรายังใช้แผนข้อมูลน้อย ดังนั้น คนรุ่นใหม่หรือนักวางแผนรุ่นใหม่ จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อนำข้อมูล และความรู้มาใช้ให้เพิ่มมากขึ้น”

สำหรับท่านที่สนใจหาอ่านเกี่ยวกับ “อนาคตศึกษา” เพิ่มเติม ทางคณะนักวิจัย ได้จัดทำหนังสือ “อนาคตศึกษา” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และข้อมูลถึงศาสตร์ด้านอนาคต ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ “อนาคตศึกษา” ฉบับ e-Book ได้ฟรีที่ https://www.tsri.or.th/th/knowledge/publication และรายงานจาก Foresight Conference 2019: Society 4.0 ได้ที่ https://www.csf.gov.sg/files/media-centre/FC2019-external-report.pdf